รีวิวเว็บ

รีวิว app Rush Bike ตอนที่ 2

0

solution-04

ท้าวความเดิมนิดหน่อยนะครับ ตอนที่แล้วผมได้แนะนำวิธีการรีวิวด้วยการใช้หน้าสาวน้อยจิ้มลิ้มและข้อความบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดของสาวน้อยซาร่าที่มีต่อ app ในแต่ละหน้าจอ หรือก็คือผมกำลังใช้กฎข้อแรกของ Steve Krugg ที่ว่า app ตรงไหนที่ทำให้ยูสเตอร์ต้องคิด นั่นคือส่วนที่เราจำเป็นต้องแก้ไขครับ

ในตอนต่อๆ ไปจากนี้ เรามีจุดมุ่งหมายเดียวครับคือ ต้องทำให้ app นี้ใช้งานได้โดยยูสเซอร์ไม่ต้องคิด(มาก) โดยจะตั้งเป็นหัวข้อปัญหาขึ้นมาที่สอดคล้องกับเรื่องที่ทำให้ซ่าราต้องคิด และนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาโดยคำนึง Usability ก่อนความสวยงามครับ

ปัญหา #1: app ไม่ชัดเจนว่าใช้ประโยชน์อะไรในตอนต้น

rushbike-24

หน้าจอขั้นตอนที่ 3 เพื่อกรอกรายละเอียดการจัดส่งสินค้า

ก่อนอื่นเลย ยังจำที่ซาร่าคิดสงสัยมาตลอดเลยว่า app นี้ใช้ทำอะไร (ในเหตุการณ์ที่มีเพื่อนแนะนำให้ลองใช้) จนมาร้องอ๋อในขั้นตอนสุดท้ายได้ไหมครับ แน่นอนครับว่าปัญหามักไม่ได้มีทางออกเพียงทางเดียว

วิธีแก้ไข

วิธีที่ 1:  เพิ่มสโลแกน

solution-01

 ตัวอย่างโลโก้พร้อมคำสโลแกน

ในหน้า splash screen เราอาจจะมีสโลแกนเพิ่มเข้าไปหน่อยใต้ logo เช่น มอไซค์ซิ่ง วิ่งส่งของ นอกจากทำให้เข้าใจประโยชน์ของ app ได้ง่าย ยังช่วยส่งเสริมการสื่อสารผ่านแบรนด์ด้วยครับ ยกตัวอย่างเช่น เว็บ UI Blogazine ผมก็ใช้สโลแกนว่า “All about graphic interface” เป็นต้น (อาจมีเปลี่ยน ^^) เลยอยากแนะนำว่า อย่างน้อยควรคิดสโลแกนหรือคำขวัญให้กับเว็บหรือ app ของเราหน่อยนะครับ เวลาออกสื่อจะง่ายและธุรกิจจะไม่หลงทางครับ

วิธีที่ 2: เปลี่ยนข้อความในหน้าขั้นตอนที่ 1

solution-02

ตัวอย่างการเปลี่ยนข้อความที่ดูกำกวมให้ตรงประเด็นและชัดเจน

ลองดูที่ผมเสนอปรับแก้คำในหน้าจอดู เป็นความพยายามที่จะอธิบายว่า Rush Bike เป็นบริการอะไรเท่านั้นเองครับ โดยการใช้คำที่ไม่อ้อมค้อมและคนทั่วไปเข้าใจได้ไม่ยาก ประโยค ‘เพื่อการจัดส่งสินค้า กรุณากำหนดจุดรับ-ส่ง’ สามารถทำให้กระชับได้กว่านี้นะครับ เช่น ‘กำหนดจุดรับ-ส่งสินค้า’ บางทีไม่ต้องสุภาพมาก กันเองๆ กับยูสเซอร์ครับ

ดอกจัน 100 ดอกเลยครับ คำหรือเนื้อหาที่เราใช้ใน app หรือเว็บ เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เลยครับ ในการออกแบบ User Interface (UID) และ User Interaction (IxD) ที่ดี เรื่องของคำหรือข้อความเป็นองค์ประกอบแรกในบรรดา 5 หัวข้อ (words – ถ้อยคำ, visuals – ภาพ, objects/space – วัตถุ/พื้นที่, time – เวลา, behavior- พฤติกรรม) ที่จะทำให้งานออกแบบของเราทรงพลัง บางคนหลงคิดว่า UI คือการทำ Interface ให้สวยงามก็พอแล้ว จะใช้คำอย่างไรก็ได้ ไม่ต้องสนใจ

แน่นอนครับ ไม่มีใครเก่งในทุกๆ ด้าน เราจำเป็นต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์จากคนหลายๆ มุมมองหรือผู้เชี่ยวชาญด้านงานเขียน (copywriter) เพื่อให้ได้ออกมาในเนื้อหาที่กระชับและกระจ่างต่อยูสเซอร์

ในกรณีนี้ ใช่ว่าความเห็นของผมจะถูกต้องนะครับ เป็นเพียงแค่ 1 ในล้านทางเลือกที่ผมอยากนำเสนอเท่านั้นเองครับ และผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนก็มีความเห็นที่ดีกว่าผมแน่นอน

วิธี่ที่ 3: รื้อหน้าแรก สร้างหน้าใหม่

solution-03

 ปรับเปลี่ยนหน้าจอหน้าแรกใหม่เพื่อการสื่อสารและการจัดการที่ดี

หน้าจอแรกของ Rush Bike เลือกใช้เป็นการแสดงแผนที่เต็มจอพร้อมไอคอนแดงๆ บนแผนที่และปุ่มเพิ่มรายการส่งของขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางล่าง ซึ่งผมมาทราบภายหลังว่าไอคอนที่อยู่บนแผนที่คือ ตำแหน่งของพนักงานส่งของนั่นเอง แต่เมื่อกดไปแล้วก็ไม่มีอะไรตอบสนองหรือให้ข้อมูลใดๆ เลย ดังนั้นผมจึงคิดว่า การแสดงแผนที่จึงอาจไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องนัก เพราะยูสเซอร์พยายามมีปฏิสัมพันธ์ด้วยกับแผนที่ (interact) แต่แผนที่กลับไม่ยอมพูดอะไรเลย (no feedback)

คำแนะนำของผมก็คือ ทำหน้าแรกใหม่ครับ แผนที่ไม่จำเป็นสำหรับหน้าแรกเลย เราควรสร้างหน้ารายการรับส่งของเป็นหน้าแรกดีกว่า โดยมีปุ่มการกระทำหลัก (call-to-action) ใหญ่ๆ วางไว้ตามเทรนด์ในกรณีของ app Android ส่วน iOS ก็เอาปุ่มนี้ ไปไว้ที่มุมบนขวาตามธรรมเนียมครับ

solution-05

ตัวอย่างรายการที่แสดงให้เห็นเมื่อมีการเพิ่่มจุดรับส่งสินค้า

เข้ามาครั้งแรก อาจยังไม่มีรายการส่งสินค้าเลย ดังนั้นเราก็เชิญชวนให้ยูสเซอร์ลองใช้ app หน่อย ด้วยถ้อยคำที่เป็นการสื่อถึงบริการของ app นี้ มองไปไกลๆ พอยูสเซอร์สร้างรายการเสร็จก็กลับมาที่หน้าจอนี้ใหม่ พร้อมมีรายการแรกปรากฏให้เห็น ยูสเซอร์สามารถเลือกที่จะจัดการกับรายการที่เพิ่งสร้างได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเรียกดูรายละเอียด, แก้ไข, ยกเลิก / ลบ ซึ่งหน้าจอที่มีแผนที่ไม่สามารถรองรับฟังก์ชันพวกนี้ได้เลยครับ

ร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาและสร้างสิ่งมหัศจรรย์

ผมอยากจะเน้นย้ำว่า ไม่มีใครเก่งคนเดียวในโลกนี้เลยครับ การสร้างสิ่งมหัศจรรย์ใดๆ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ มือ หลายๆ แรง แม้ว่าความคิดจะมาจากคนๆ เดียว เช่น facebook ที่มาร์คสามารถสร้างระบบได้ด้วยตัวเค้าเองคนเดียว แต่เอาเข้าจริงๆ ถ้าอยากให้ดังระดับโลก เค้ายังต้องอาศัยพลังจากดีไซน์เนอร์ พลังจากการนักการตลาด พลังจากทีมผู้บริหารมืออาชีพ จนกลายมาเป็นสินค้าที่ไร้ที่ติและโด่งดัง

การสร้างไอโฟนที่มาจากความคิดของสตีฟ จ๊อบส์ ก็มาจากพลังงานสร้างสรรค์ของนักออกแบบผลิตภัณฑ์ โจนาธาน อีฟ ร่วมมือกับนักออกแบบกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดจนถึงขนาดสามารถกำหนดทิศทางเทรนด์ของโลกได้

นี่ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์คนเดียวจะทำได้ครับ

หากเราพร้อมที่จะเรียนรู้ปัญหา ปรับแก้ และร่วมมือ สิ่งมหัศจรรย์จะเกิดขึ้นมาแน่นอนครับ และผมก็อยากเห็นสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นที่ประเทศไทยครับ

บทความหน้า – ปัญหาการปักหมุดสถานที่ – ติดตามนะครับ (o^-‘)b

 

uiblogaziner
สวัสดีครับ ผมชื่อฟริ้นครับ รักและชอบงาน Graphic Design เอามากๆ เลย พอได้เริ่มทำงานเป็น UI Designer แล้ว ยิ่งสนุกขึ้นอีกแยะ งานออกแบบที่ใช้ความรู้สึกและเหตุผลเป็นอะไรที่สุดยอดจริงๆ ครับ

Microsite สร้างเว็บมินิเรียกความสนใจ

Previous article

จิตวิทยาการรอ กรณีศึกษาจาก Facebook

Next article

You may also like

Comments

Leave a reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *