Design Exciteเรื่องเด๊นเด่น

คิดให้ปังดังทั่วโลกแบบนักเรียนสแตนฟอร์ด ตอนที่ 6: คิดสร้างสรรค์ด้วยการเล่นไพ่

0

entrepreneurial-thinking-ep6-01

ในตอนที่ 6 ‘คิดสร้างสรรค์ด้วยการเล่นไพ่’ (Learn creativity with playing cards) อาจารย์ทีน่าจะให้นักเรียนเล่นเกมจำลองที่จะช่วยสอนเรื่องราวต่างๆ ในบริษัทหลากหลายเรื่องอย่างแยบยลให้แก่นักเรียน แต่ก่อนเริ่มคลาสก็มาวอร์มอัพกันก่อนเลย

กิจกรรมวอร์มอัพครั้งนี้คือ การให้นักเรียนยืนล้อมเป็นวงกลม จากนั้นให้แต่ละคนเลือกเพื่อน 2 คนในใจ จากนั้นพยายามฟอร์มการยืนให้เป็นสามเหลี่ยมด้านเท่าทั้งสามคนขณะที่เสียงเพลงกำลังเล่น เมื่อเสียงเพลงหยุด ก็มาดูกันว่า 3 คน ไหนที่สามารถฟอร์มตำแหน่งการยืนเป็น 3 เหลี่ยมได้บ้าง ดูวุ่นวายสนุกสนานดีครับ ^^

กฎและกติกา

entrepreneurial-thinking-ep6-02

คลาสถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งคือ ฝั่งโต๊ะ และ ฝั่งเก้าอี้

เกมนี้จะแบ่งนักเรียนออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งละ 4 กลุ่ม กลุ่มละ 3-4 คน โดยฝั่งซ้ายเป็นโซนที่โต๊ะ (Table Ecosystem) ส่วนฝั่งขวาเป็นโซนที่มีเก้าอี้ (Chair Ecosystem)

 

entrepreneurial-thinking-ep6-03

เกมทั้งสองฝั่งจะแยกกันโดยชิ้นเชิง

อาจารย์ทีน่าเน้นย้ำว่า การดำเนินการของเกมทั้งสองฝั่งจะแยกกันโดยสิ้นเชิง ไม่เกี่ยวข้องกัน (คือ ห้ามฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวา ข้ามฝั่งไปมา)

 

entrepreneurial-thinking-ep6-04

นักเรียนเสนอตัวเป็นหัวหน้าทีม

ก่อนที่จะบอกกติกา ก็ให้แต่ละกลุ่มเลือกตัวแทนที่เป็นหัวหน้ามาซะคน

 

entrepreneurial-thinking-ep6-05

แต่ละกลุ่มจะได้ไพ่ไม่เต็มสำรับ

เมื่อได้หัวหน้าของแต่ละทีมเรียบร้อย อาจารย์ทีน่าก็เริ่มอธิบายกฎกติกาของเกม ดังนี้

  • แต่ละทีมจะได้รับไพ่ 1 สำรับ ซึ่งไม่ได้ครบตามจำนวนสำรับไฟ่ทั่วไป (52 ใบ) จะมีบางใบหายไป
  • แต่ละทีมจะได้รับชิป 10 อัน ซึ่งมีค่า 1 คะแนน
  • แต่ละทีมจะได้รับกระดาษที่เขียนอธิบายกติกา 1 แผ่น
  • ต้องใช้การ์ดในสำรับเดียวกันนี้ สร้างเป็น “บ้านไพ่ (House of Cards)”
  • แต่ละชั้นของบ้านต้องเป็นสีเดียวกัน คือ สีแดง หรือ สีดำ
  • ชั้นบนสุดของบ้านต้องสร้างจากไพ่ที่มีหน้า (ไพ่แจ็ค, แหม่ม, คิงค์)
  • ไม่มีการถามคำถามใดๆ กับอาจารย์ทั้งสิ้น ถ้ามาถามก็จะบอกไม่รู้

วิธีคิดคะแนน คือ

  • ใช้การ์ด 1 ใบ ได้ 1 แต้ม
  • สร้างบ้าน 1 ชั้น ได้แต้มเพิ่ม 1 แต้ม
  • ใช้การ์ด 52 ใบ ได้แต้มเพิ่มพิเศษ  20 พิเศษ
  • ชิปที่เหลือมานับเป็นแต้ม

 

entrepreneurial-thinking-ep6-06

แต่ละกลุ่มจะได้รับ 10 ชิป

 

entrepreneurial-thinking-ep6-07

แต่ละกลุ่มจะได้รับแผ่นคู่มือเกม

 

เกมสตาร์ท

entrepreneurial-thinking-ep6-20

นักเรียนตรวจนับไพ่ก่อนเริ่มดำเนินกลยุทธ์

เมื่อเริ่มเกม นักเรียนส่วนใหญ่ก็เริ่มตรวจนับจำนวนของไพ่ที่กลุ่มตัวเองมี และสำรวจว่ามีไพ่สีแดงและสีดำอย่างละกี่ใบ เพื่อเริ่มดำเนินกลยุทธ์การเทรดไพ่กับกลุ่มอื่น

 

10 นาทีผ่านไป

entrepreneurial-thinking-ep6-23

ขายสติ๊กเกอร์

พอเกมผ่านไปได้ 10 นาที อาจารย์ทีน่าก็มีข่าวประกาศแจ้งให้ทราบว่า อาจารย์มีสติ๊กเกอร์มาขาย แผ่นละ 1 ชิป แน่นอนว่า นักเรียนแต่ละทีมก็มาอุดหนุนไว้อย่างน้อยกลุ่มละแผ่น เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างบ้านด้วยไพ่ทางใดทางหนึ่ง

 

entrepreneurial-thinking-ep6-24

สร้างบ้านด้วยไพ่มุมมองใหม่

พอได้จับจ่ายซื้อสติ๊กเกอร์เสร็จ มีนักเรียนกลุ่มฝั่งใช้โต๊ะได้ไอเดียว่า การสร้างบ้านด้วยไพ่ ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดเป็น 3 มิตินี่นา ก็เลยหันมาสร้างบ้านแบบเรียงระนาบเดียวกับพื้นโต๊ะซะเลย

 

entrepreneurial-thinking-ep6-25

คุยความคิดรวมก๊ก

มาดูสถานการณ์ของฝั่งที่นั่งเก้าอี้ จากที่เซสชันที่แล้วที่ส่วนใหญ่จะทำการแลกไพ่กัน มาคราวนี้ ทั้ง 4 กลุ่มเริ่มสุมหัวคุยกันว่า น่าจะทำการรวมกลุ่มกันดีกว่า ดูแล้วเป็นสถาณการณ์ที่ win-win ด้วย และดูเหมือนว่าทุกคนในกลุ่มจะเห็นด้วย ดังนั้นทีมฝั่งเก้าอี้จึงหลอมรวมก่อตัวเป็นพันธมิตรเป็นก๊กใหญ่ขึ้นมาในที่สุด

 

20 นาทีผ่านไป

entrepreneurial-thinking-ep6-28

แจกไพ่ให้ฟรี

เวลาผ่านไป 20 นาที อาจารย์ทีน่าก็มาบอกว่า อาจารย์มีไพ่จำนวนหนึ่งมาแจกฟรีให้กับแต่ละกลุ่ม ใครสนใจก็ส่งหัวหน้าทีมมารับได้เลย ส่วนใหญ่ทุกทีมก็เข้าไปรับ แต่มีเพียงกลุ่มเดียวที่ไม่เข้าไปรับไพ่เพิ่มจากอาจ่ารย์

 

entrepreneurial-thinking-ep6-29

เริ่มสร้างบ้าน

จากที่อาจารย์ทีน่าได้บอกว่า ให้ใช้ไพ่สร้างบ้านขึ้นมา นักเรียนกลุ่มหนึ่งฝั่งโต๊ะก็เริ่มก่อบ้านไพ่ขึ้นด้วยการใช้สติ๊กเกอร์ที่ซื้อมาในตอนแรกยึดเป็นฐานให้กับตัวบ้าน

 

entrepreneurial-thinking-ep6-30

ความคิดวางไพ่ซ้อนเป็นชั้นๆ ถูกปฏิเสธในฝั่งโต๊ะ

เพื่อนๆ ในกลุ่มคนอื่นก็พยายามมาคิดวิเคราะห์เรื่องการสร้างบ้านด้วยไพ่ว่า จริงๆ แล้ว การสร้างบ้านเป็นชั้นๆ ใช่วิธีที่ดีแล้วเหรอ เพื่อนในกลุ่มคนหนึ่งเลยเสนอว่า การเอาไพ่มาวางซ้อนๆ กันเลย ก็เป็นการสร้างบ้านด้วยไพ่นะ แต่แล้วเพื่อนในทีมคนนึงก็บอกว่า ไม่น่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องตามกฏกติกานะ ความคิดนี้จึงถูกปัดทิ้งไป

 

entrepreneurial-thinking-ep6-31

ความคิดวางไพ่ซ้อนเป็นชั้นๆ ถูกยอมรับในฝั่งเก้าอี้

ในขณะเดียวกันทางฝั่งเก้าอี้ที่รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มเดียว ก็มีแมทนำเสนอความคิดเดียวกันนี้ คือการวางไพ่ซ้อนๆ กันเพื่อสร้างเป็นบ้านไพ่  และเพื่อนๆ ในทีมก็ดูจะเห็นด้วยกับความคิดนี้เลย เพราะทางทีมเห็นว่าตอนนี้ทางทีมมีอำนาจถึงขนาดสามารถนิยามการตีความกฎกติกาขึ้นมาใหม่ได้เลยทีเดียว

 

30 นาทีผ่านไป

entrepreneurial-thinking-ep6-33

แข่งประมูลไพ่

อาจารย์ทีน่าก็มาคั่นรายการเมื่อเวลาผ่านไป 30 นาที ด้วยการให้นักเรียนแต่ละฝั่งมาประมูลไพ่แข่งกัน

การประมูลเริ่มจากฝั่งโต๊ะก่อน กลุ่มแรกเริ่มต้นจาก 1 ชิป ต่อไปๆ เรื่อย การประมูลไพ่ก็สามารถเรียกชิปได้สูงขึ้นเรื่อยๆ และไปปิดประมูลด้วยการขายไพ่ได้ถึง 7 ชิปในที่สุด

ในขณะที่การประมูลในฝั่งเก้าอี้ เหตุเพราะว่าทุกกลุ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มเดียวกันแล้ว จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องแข่งขันประมูลกัน ทีมก็ส่งตัวแทนไปประมูลไพ่มาด้วยการเสียชิปไปเพียง 1 ชิปเท่านั้น

 

5 นาทีสุดท้าย

entrepreneurial-thinking-ep6-34

หัวหน้าทีมต้องไปจากทีม

ใกล้เวลาจบเกมอีก 5 นาที อาจารย์ทีน่าก็มาเซอร์ไพส์บอกว่า หัวหน้าแต่ละทีมต้องย้ายไปอยู่ทีมอื่น โดยก่อนที่จะย้ายไป สามารถเอาไพ่อะไรก็ได้ ติดมือไปได้ 2 ใบ (หรือจะไม่เอาไปก็ได้นะ)

 

entrepreneurial-thinking-ep6-35

บรรยากาศทีมเวิร์ค

นักเรียนกลุ่มฝั่งเก้าอี้ฟังเสร็จ ก็ตั้งล้อมวงกินขนมกันอย่างเอร็ดอร่อย เพราะประกาศที่ว่านี้ ไม่มีผลกับทีมของพวกเค้าเลยที่ได้รวมตัวกันเป็นทีมใหญ่เรียบร้อย

 

entrepreneurial-thinking-ep6-37

ถกเถียงจนนาทีสุดท้ายเรื่องการย้ายทีมของฝั่งโต๊ะ

ขณะที่ทางฝั่งโต๊ะกลับถกเถียง อาลัยอาวรณ์หัวหน้าทีม และพยายามรั้งหาวิธีการให้หัวหน้าทีมอยู่กับทีมเหมือนเดิม จนในทีสุดก็หมดเวลา และเริ่มการนับคะแนน

 

นับคะแนน

entrepreneurial-thinking-ep6-38

ก่อบ้านจากพื้น

ไอเดียการสร้างบ้านด้วยไพ่ของนักเรียนกลุ่มแรกฝั่งโต๊ะคือ การใช้ไพ่ 3 ใบประกอบเป็นแต่ละชั้น แล้วนำมาเรียงต่อกันโดยเริ่มวางตั้งแต่พื้นเลย จะได้สร้างได้สูงๆ

 

entrepreneurial-thinking-ep6-39

ติดไพ่กับแผ่นผนัง

กลุ่มที่สองฝั่งโต๊ะ ก็ใช้ไพ่ไปติดกับแผ่นกระดานในแนวตั้ง ก็ดูสร้างสรรค์ดี ไม่ยึดติดกับความคิดการสร้างบ้านไพ่่แบบเดิมๆ

 

entrepreneurial-thinking-ep6-40

บ้านในมุม 2D

ส่วนกลุ่มที่ 3 ฝั่งโต๊ะ ก็ได้ไอเดียการสร้างบ้านแบบ 2 มิติตั้งแต่ช่วงต้นๆ เกมแล้ว

 

entrepreneurial-thinking-ep6-41

ร่วมมือกันก็ผูกขาดชัยชนะ

ส่วนกลุ่มฝั่งเก้าอี้ที่รวมหัวกัน ก็ใช้การวางซ้อนไพ่เป็นชั้นๆ ง่ายๆ ด้วยวิธีการนี้ทำให้ทีมนี้ได้คะแนนไป 464 แต้ม ชนะใส ไร้คู่แข่งขัน

 

ความรู้เริ่มแรก

entrepreneurial-thinking-ep6-42

จำนวนไพ่และจำนวนทีมในเกม

หลังกิจกรรม อาจารย์ทีน่าก็จะเรียกนักเรียนนั่งล้อมวง เพื่ออธิบายและสรุปสิ่งที่อาจารย์ตั้งใจจะสอนในคลาสตามระเบียบ เรื่องแรกที่อาจารย์ทีน่าถามนักเรียนคือ จำนวนไพ่ที่แต่ละกลุ่มได้รับ ซึ่งทุกกลุ่มก็ทราบกันดีว่าไพ่ที่ได้รับนั้นมีไม่ครบสำรับ (52 ใบ) แต่ได้รับเพียงประมาณ 34-36 ใบต่อกลุ่มเท่านั้น นั่นหมายความว่าอาจารย์แจกไพ่ 3 สำรับ ให้กับนักเรียน 4 กลุ่ม

สิ่งที่อาจารย์ต้องการจะสื่อในสถานการณ์นี้คือ ในชีวิตจริง ทุกการ์ดที่มีอยู่นั้น เราไม่สามารถควบคุมมันได้ เราต้องการที่จะทำบางสิ่งให้สำเร็จ แต่ว่าเรามีทรัพยากรอยู่ในมือไม่ทั้งหมด (มีไพ่ไม่ครบทุกใบ) มันคือจุดเริ่มต้นของทุกบริษัทที่จะเป็นเช่นนี้

อาจารย์ทีน่าก็เลยถามนักเรียนต่อไปว่า ได้ทำอะไรต่อหลังจากที่ได้รู้ทรัพยากรในมือแล้ว

 

entrepreneurial-thinking-ep6-43

ความคิดในการเล่นเกมช่วงแรก

คำตอบของนักเรียนส่วนใหญ่คือ การพยายามขัดแข้งขัดขาคู่แข่ง ในขณะเดียวกันก็พยายามสร้างความได้เปรียบให้กับทีมตัวเอง เช่น การควบคุมการ์ดสีใดสีหนึ่งผ่านการเทรดการ์ด เป็นต้น

 

ความต่างของสองฝั่ง

entrepreneurial-thinking-ep6-44

ความแตกต่างระหว่างสองฝั่ง

ทันใดก็มีนักเรียนคนหนึ่งฝั่งที่ใช้โต๊ะถามขึ้นมาด้วยความสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นที่ฝั่งนู้น นักเรียนฝั่งเก้าอี้ก็เลยตอบว่า พวกเขารวมกันเป็นหนึ่งทีม

อาจารย์ทีน่าเลยบอกความลับให้กับนักเรียนได้รู้ว่า เมื่อสองสามปีที่แล้ว อาจารย์ก็ได้ทำกิจกรรมแบบนี้แหละ อาจารย์แบ่งนักเรียนออกเป็น 2 ฝั่ง เหมือนแบบนี้แค่เพื่อความสนุกอย่างบังเอิญ โดยต้องการแค่แสดงว่า พวกเขาอยู่กันคนละโลกเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นว่า นักเรียนที่นั่งเก้าอี้จะรวมกลุ่มกันเป็นหนึ่งทีม ขณะที่ฝั่งที่มีโต๊ะจะอยู่แยกเป็นกลุ่มเหมือนเดิม

 

entrepreneurial-thinking-ep6-45

เป็นไปได้อย่างไรกัน แค่มีโต๊ะ กับ ไม่มีโต๊ะ

อาจารย์ทีน่าบอกว่า คนจะถูกนิยามพื้นที่โดยโต๊ะ ในขณะที่ฝั่งทีไม่มีโต๊ะ อาจารย์ได้ลองทำกิจกรรมแบบนี้มาแล้ว 5-6 ครั้ง และทุกครั้ง ทีมฝั่งเก้าอี้จะรวมกลุ่มกัน ย้ำว่าทุกครั้งเลย พอรู้อย่างงี้แล้ว พวกนักเรียนถึงกับอ้าปากค้างกันเลยเชียว

อาจารย์ทีน่าจึงสรุปว่า “พื้นที่สำคัญมาก”

 

กฎชี้นำ

entrepreneurial-thinking-ep6-46

กฎอาจกักความคิดสร้างสรรค์

ต่อมาอาจารย์ทีน่าก็มาถามประเด็นเรื่อง แผ่นคู่มือการเล่นเกม อาจารย์เฉลยว่าได้ แผ่นคู่มือนี้มีอยู่ 2 แบบ คือ แบบที่มีรูป กับ แบบที่ไม่มีรูป ซึ่งเป็นไปได้มากว่า กลุ่มที่ได้รับแจกแผ่นคู่มือแบบมีรูปจะสร้างบ้านด้วยไพ่เหมือนที่แผ่นคู่มือชี้นำ แต่จากผลงานที่เราได้เห็น ไม่มีนักเรียนกลุ่มไหนเลย ถูกหลอกในกลลวงข้อนี้

ในข้อนี้ อาจารย์ทีน่าบอกว่า ให้พวกเราลองคิดท้าทายกฎหรือข้อสมมติฐาน เรามักจะถูกคนอื่นบอกว่า สิ่งนั้นสิ่งนู้นควรหน้าตาเป็นอย่างงี้อย่างงั้น ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่เราควรทำตามเลยทันที

อาจารย์ทีน่าคิดว่า กฎก็คือแค่ข้อแนะนำเท่านั้น คนส่วนใหญ่ที่ทำเรื่องประหลาดใจได้ จะคิดอย่างฉลาดโดยทำมันให้แตกต่างและจะอยู่ขอบๆ กรอบของกฎระเบียบ ซึ่งดูเหมือนจะแหกกฎ แต่มันเป็นเพียงแค่การตีความในอีกแง่ที่ดูน่าสนใจต่างหาก

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการเรียงการ์ดเป็นชั้นๆ หรือจะพับการ์ด หรือจะตัดการ์ด ก็โอเคหมด (เพราะกฎไม่ได้บอกว่าห้ามทำนี่นา)

 

อย่าหลงคารม

entrepreneurial-thinking-ep6-49

คิดให้ดีก่อนซื้อ

ต่อจากเรื่องกฎเกณฑ์ อาจารย์ทีน่าก็ถามว่า ใครบ้างที่อุดหนุนซื้อสติ๊กเกอร์ไปบ้าง อาจารย์ทีน่าอธิบายว่า นี่คือตัวอย่างที่ดีมากที่สอนว่ามีหลายครั้งที่ข้างนอกนั้น มีคนที่พยายามขายของให้กับเรา โดยที่เราไม่จำเป็น ให้ระวังๆ ไว้หน่อยนะ

 

การแข่งขัน

entrepreneurial-thinking-ep6-47

คู่แข่งคือ กรอบที่เราเลือกเอง

ในเรื่องของคู่แข่ง อาจารย์ทีน่าบอกว่า มันขึ้นอยู่กับเราว่าเราจะตีกรอบคู่แข่งของเราก็ใครบ้าง ฝั่งโต๊ะก็คิดว่าแต่ละโต๊ะคือคู่แข่ง ส่วนฝั่งเก้าอี้ก็คิดว่า กลุ่มฝั่งโต๊ะทั้งหมดคือคู่แข่ง

ก่อนหมดเวลาที่อาจารย์ให้หัวหน้าทีมจากไป หลายคนรู้สึกอารมณ์เสียที่ต้องเสียสมาชิกไป แต่อาจารย์ทีน่าก็บอกว่า นี่แค่ 30 นาทีเองนะ พวกเรายังรู้สึกผูกพันอย่างงี้ เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อเลยว่าเราสร้างความสัมพันธ์กับสมาชิกในทีมได้เร็วเช่นนี้

 

โลกเปลี่ยน ต้องเปลี่ยนตาม

entrepreneurial-thinking-ep6-50

นักเรียนข้าใจในเหตุผลเบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

ตลอดเกมที่เห็นอาจารย์ออกมาคอยนำเสนอนู้นนี่หรือเปลี่ยนแปลงกติกาต่างๆ นานา ทุกๆ 10 นาที อาจารย์ทีน่าก็ได้บอกเหตุผลว่า เพราะ มันคือชีวิตจริง

พวกเราอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ซึ่งไม่มีทางรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในโลก, ในบริษัท, ในระบอบการเมือง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเรา เราจึงจำเป็นต้องพร้อมตอบสนองการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ อย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน

ในประเด็นเรื่องการคิดตัดสินใจภายในกลุ่ม นักเรียนก็เล่าว่า คนที่ออกไอเดียได้ดีเข้าท่าดูเหมือนจะได้รับความไว้วางใจให้ตัดสินใจดำเนินกลยุทธ์ ในความเป็นจริง คนที่มีอำนาจตัดสินใจอาจเป็นเพราะตำแหน่ง, จำนวนเงิน ซะมากกว่า

 

นี่คือกิจกรรมคิดสร้างสรรค์

entrepreneurial-thinking-ep6-53

จำลองการคิดสร้างสรรค์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอน

อาจารย์ทีน่าได้สรุปกิจกรรมนี้ว่า นี่คือการจำลองว่า ความคิดสร้างสรรค์นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกบริษัทบนโลกใบนี้ ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้ใช้แค่แผนกออกแบบสินค้า หรือระยะแรกๆ อย่างเช่นช่วงระดมความคิดเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ มีโอกาสเสมอให้กับการคิดสร้างสรรค์

  • สร้างสรรค์ในเรื่องกลยุทธ์
  • สร้างสรรค์ในเรื่องการปฏิบัติงาน
  • สร้างสรรค์ในการเจรจาต่อรอง
  • สร้างสรรค์ในการสร้างทีม

นี้คือสิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอ ไม่ใช่เฉพาะแค่คนในแล็บทดลองหรือพวกคิดหาไอเดียสำหรับสินค้าใหม่ แต่การคิดสร้างสรรค์ต้องกระจายไปทั่วองค์กร

อาจารย์ทีน่าแนะว่า แม้การทำงานในบางครั้ง จะติดเรื่องความคิดเก่าๆ ขององค์กร มันยากทีจะเริ่มในระดับองค์กร แต่ขอให้เริ่มจากตัวเรา หรือหน่วยย่อยๆ ก่อน แสดงให้คนอื่นได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ แล้วให้เค้าถามว่า เราทำได้อย่างไร จากนั้นคนอื่นจะเอาเราไปเป็นตัวอย่างเอง นอกจากนี้ให้เราพยายามเลือกหาองค์กรที่พร้อมจะให้โอกาสในความล้มเหลว และกล้าที่จะเสียงจนกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร

 

บทเรียนของนักเรียน

entrepreneurial-thinking-ep6-56

บทเรียนของมิชเชลล์

ก้าวแรกที่จะคิดสร้างสรรค์คือ การเป็นอิสระจากกฎ ไม่ใช่แค่เป็นนักเรียนที่แสนดีที่รักษากฎ แต่ต้องคิดท้าทายกฏที่มีอยู่ คือบทเรียนที่มิชเชลล์ได้รับจากเกมสร้างบ้านด้วยไพ่ในคลาสวันนี้

 

ท้ายรายการ

entrepreneurial-thinking-ep6-57

สรุปแนวคิดก่อนจบตอน

อาจารย์ทีน่าได้พูดทิ้งท้ายว่า ความจริงก็คือ ทุกๆ คนมีส่วนในความสำเร็จของสินค้า ไม่ว่าจะเป็นคนในไลน์การผลิตที่เห็นว่า บางอย่างหากทำด้วยวิธีการอื่นจะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น, เร็วขึ้น, หรือปลอดภัยขึ้น

การคิดถึงคนทั้งหมดในองค์กรเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างมาก และสนับสนุนให้พวกเขาคิดแก้ปัญหาในงานของพวกเขาเมื่อต้องเผชิญกับมัน

ในตอนหน้า “เรียนรู้จากเจ้าของธุรกิจที่ชื่นชอบ” (Learn From Your Favorite Entrepreneurs) อย่าได้พลาดเช่นเคย 」( ̄▽ ̄」)

uiblogaziner
สวัสดีครับ ผมชื่อฟริ้นครับ รักและชอบงาน Graphic Design เอามากๆ เลย พอได้เริ่มทำงานเป็น UI Designer แล้ว ยิ่งสนุกขึ้นอีกแยะ งานออกแบบที่ใช้ความรู้สึกและเหตุผลเป็นอะไรที่สุดยอดจริงๆ ครับ

คิดให้ปังดังทั่วโลกแบบนักเรียนสแตนฟอร์ด ตอนที่ 5: สร้างสินค้าใหม่ใน 30 นาที

Previous article

คิดให้ปังดังทั่วโลกแบบนักเรียนสแตนฟอร์ด ตอนที่ 7: เรียนรู้จากเจ้าของธุรกิจที่ชื่นชอบ

Next article

Comments

Leave a reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Login/Sign up