รีวิวเว็บ

รีวิวเว็บ Set.or.th

1

featured-set-01

เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีกับตลาดหุ้นไทย ทางตลาดหลักทรัพย์จึงมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงเว็บ Set.or.th ให้ทันกับดีไซน์สมัยใหม่ รูปโฉมของเว็บจึงเป็นแนว Flat Design และเป็น Responsive Web ที่ทำออกมาดูดีใช้ได้เลยครับ

set-01

หน้าแสดงภาพโปรโมทก่อนเข้าหน้าเว็บหลัก

หากเราเข้าเว็บไซต์ในช่วงนี้ (ตอนที่ผมเขียนคือ มิ.ย. 58) จะต้องผ่านหน้าโฆษณาเสียก่อน ถึงจะสามารถเข้าสู่หน้าเว็บไซต์หลักได้ รูปแบบวิธีการนี้ผมเห็นว่าล้าสมัยแล้วน่ะครับ ถ้าเราอยากจะโฆษณาอะไรก็ควรไปทำในหน้าหลักเลยดีกว่า เพราะมันเป็นการขัดขวางการใช้งานเว็บที่ไม่คุ้มกับเวลาและผลลัพธ์ที่ได้ครับ

set-02

หน้าเว็บหลักของ Set.or.th

หน้าหลักของเว็บทำออกมาดูดีมีสัดส่วนดีครับ สีสันและธีมก็แสดงออกถึงแบรนด์ของตัวองค์กรได้เป็นอย่างดี ด้วยการใช้โทนสีเหลือง, ดำ, และเทา เป็นกลุ่มสีหลัก

แต่ถ้าดูในรายละเอียด ผมมองเห็นหลายจุดที่ควรปรับปรุง แม้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ถึงขนาดทำให้เว็บใช้งานไม่ได้ แต่ก็เป็นสิ่งไม่ควรมองข้ามในฐานะ UI/UX designer ครับ งั้นเรามาวิแคะ (เคราะห์) กันเป็นส่วนๆ เลยแล้วกัน

1. Slideshow

set-03b

Slideshow บนหน้าเว็บหลัก

ลูกศรที่ใช้สำหรับเลื่อนภาพไปข้างหน้า/ไปข้างหลัง ผมมองว่ามันค่อนข้างกลืนกับภาพที่เป็นโทนสีอ่อน และระยะห่างจากขอบค่อนข้างมากไป ทำให้คนออกแบบแบนเนอร์อาจต้องระวังเรื่องการวางข้อความที่สำคัญในตำแหน่งเดียวกับลูกศร ซึ่งไม่ดีแน่ถ้าต้องมาคอยหลบทางให้กับลูกศรที่มีตำแหน่งแปลกๆ อย่างงี้

แล้วก็จุดบอกจำนวนสไลด์ก็เช่นกัน สีมันกลืนกับภาพโทนอ่อนและยังไปบดบังทัศนียภาพของแบนเนอร์อีก

set-03

Wireframe ของ Slideshow ที่นำเสนอ

ที่ควรทำก็อาจจะทำลูกศรวางไว้ด้านขอบซ้าย/ขวาของ slideshow เลย โดยมีพื้นหลังสีเข้มและโปร่งใสวางรับอยู่ด้านหลัง และเพิ่มเงื่อนไขเข้าไปว่า ให้แสดงลูกศรในครั้งแรกที่หน้านี้โหลดขึ้นมา และจะซ่อนก็ต่อเมื่อยูสเซอร์เลื่อนเมาส์ออกจากส่วนนี้ไป

คือ เช็คว่ามีเมาส์เข้ามาวางบน slideshow ครั้งแรก หรือไม่? ถ้ามี พอเลื่อนเมาส์ออกจากส่วน slideshow ก็ให้ซ่อนลูกศร หลังจากนั้นถ้าเมาส์อยู่บน slideshow ให้แสดงลูกศรตลอด และเมื่อเมาส์ออกจาก slideshow ให้ซ่อนลูกศร ด้วยวิธีการนี้จะทำให้เราได้พื้นที่แสดงแบนเนอร์แบบเต็มตา โดยที่บอกให้ยูสเซอร์ทราบว่ามีลูกศรที่สามารถคลิกเลื่อนภาพได้นะ เพียงแต่ต้องเอาเมาส์มาวางบนภาพเสียก่อนถึงจะเห็นลูกศร

2. เมนูด้านบน

set-04

เมนูและลิงค์ในหน้าหลัก

ตรงบริเวณเลือกภาษา เราควรทำให้รู้ว่าตอนนี้กำลังเลือกภาษาใดอยู่ด้วยการทำลิงค์ให้สีต่างกับอันอื่น ฟังก์ชันที่ไม่จำเป็น เช่น พิมพ์หน้านี้ ก็สามารถเอาออกได้ เพราะถ้าเราไม่ได้เขียน HTML + CSS ให้รองรับฟังก์ชันนี้อย่างถูกต้องแล้ว มันก็จะเหมือนกับที่เราสั่งพิมพ์ด้วยเมนูของ Browser ไม่ต่างกัน

แล้วก็พอผมเอาเมาส์ไปวางบนไอคอนค้นหา ตรงช่อง Search ไอคอนเปลี่ยนสี ซึ่งทำถูกต้องแล้ว แต่ทว่าในช่อง Get Quote กลับเป็นสีเทาเหมือนเดิม อันนี้ผิดหลักความสอดคล้องด้านดีไซน์  (Design Consistency) ครับ สิ่งที่ทำฟังก์ชันเหมือนกันก็ควรตอบสนองเหมือนกันใช่ไหมครับ?

set-05

การแสดงผลเมื่อเลือกเปลี่ยนภาษา

นอกจากนี้พอผมกดเลือกภาษาญ๊่ปุ่น เมนูเลือกภาษากลับหายไปเฉยเลย ข้อความบนเมนูก็ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ ที่ถูกแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นก็แค่ในส่วนเนื้อหาเท่านั้น

3. ข้อมูลหุ้น

set-06

ทางลัดดูข้อมูลราคาหุ้นบนหน้าหลัก

เมื่อเราอยู่ในหน้าแรกและใส่ชื่อย่อหุ้นตรงช่อง Get Quote เว็บจะแสดงผลลัพธ์ราคาหุ้นบนหน้านี้ให้เราเห็นเลย โดยแสดงให้เห็นทางด้านล่างของช่องใส่ชื่อย่อหุ้นเลื่อนขึ้นมาแทรกจากด้านล่าง ซึ่งผมชอบแนวคิดนี้มากๆ เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปโหลดหน้าใหม่ คนเล่นหุ้นจะรู้ดี เพราะเวลาจะดูราคาหุ้นทีไร มักจะดูหลายๆ ตัว (ซื้อหลายตัว กระจายความเสี่ยงไง ^^!) ก็เลยต้องเสียเวลาโหลดหน้าใหม่อยู่หลายครั้ง การโชว์ส่วนราคาหุ้นโผล่มาด้านล่างในหน้าแรกนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมจริงๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ตรงแท็บเมนูย่อยของหุ้นแต่ละตัว เมื่อเปรียบเทียบกับเวลาเราเปิดจากหน้าแรก (ตรงกรอบสีแดงของรูปด้านบน) และเมื่อพอไปเลือกแท็บเมนูอันใดอันหนึ่งซึ่งจะโหลดหน้าใหม่ แนวการเรียงตัวของแท็บเมนูย่อยกลับต่างกัน

set-07

หน้าแสดงรายละเอียดหุ้น

แนวการเรียงตัวของแท็บเมนูย่อยของหุ้นในหน้าแรกจะเป็นแนวตั้ง แต่พอผมคลิกเลือกแท็บเมนู ‘งบการเงิน/ผลประกอบการ’ ระบบจะโหลดหน้าใหม่ และเรียงตัวแท็บเมนูย่อยในแนวนอน

อันนี้จะทำให้ยูสเซอร์งงๆ ได้นะครับ อยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนที่เฉยเลย ถ้าเป็นไปได้ก็ควรเรียงในแนวนอนให้เหมือนกัน แต่ผมเข้าใจว่าด้วยเหตุผลด้านดีไซน์ มันจะเกิดพื้นที่ว่างเยอะในหน้าแรก หากเรียงเมนูในแนวนอน ดังนั้นเราอาจจะสามารถแก้ได้ด้วยการตีกรอบการแสดงผลหุ้นให้แคบลงที่คล้ายๆ popup ก็น่าจะเวิร์คนะครับ

4. ข้อความเตือนกลับ

set-08

หน้าต่างแจ้งเตือนข้อผิดพลาด

อันนี้คิดว่าผิดหลัก UI design อย่างแรงเลย ซึ่งผมเห็น popup แจ้งเตือนการกรอกข้อมูลผิดหลังจากที่กรอกอีเมลและรหัสผ่านผิดเพื่อเข้าสู่ระบบ (บางทีรอ 3-5 วินาทีกว่า popup จะแสดงผล)

set-09

ตัวอย่างการออกแบบ UI ที่แจ้งเตือนข้อผิดพลาด

จะดีกว่าหากสามารถแสดงข้อความตอบกลับ (Feedback) ตรงบริเวณใกล้กับที่เราให้ยูสเซอร์กรอกข้อมูลครับ มันเป็นเรื่องของสายตาที่กำลังจับจ้อง ณ จุดที่เสร็จสิ้นการกระทำและความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุ ข้อความแจ้งเตือนที่อยู่ใกล้กับส่วนกรอกข้อมูลจะทำให้เราเห็นข้อความแจ้งกลับได้อย่างทันทีและรู้ว่าข้อความนั้นสัมพันธ์กับการกระทำอันล่าสุดของเราด้วยครับ

set-17

หน้าต่างแจ้งเตือนข้อผิดพลาดของ browser

ในหน้าลืมรหัสผ่านยิ่งไม่ดีใหญ่ครับ เพราะข้อความตอบกลับใช้ popup แจ้งเตือนของ browser ทำให้เราไม่ทราบแน่ชัดว่า ข้อผิดพลาดเกิดขึ้นเพราะการกระทำของเราหรือเป็นเพราะ browser กันแน่

set-18

ตัวอย่างแสดงตำแหน่งข้อความแจ้งเตือนที่เหมาะสม

วิธีแก้ไขก็เหมือนเดิมครับ ให้เราแสดงข้อความผิดพลาด (Error message) บริเวณด้านบนของหน้า และบริเวณตรงช่องกรอกข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ก็ขึ้นข้อความว่าทำไมถึงผิด

5. Progress bar

set-10

การเลือกใช้สีที่ไม่เข้ากับสถานะของ UI

ในหน้าสมัครสมาชิก ด้านบนจะแสดงขั้นตอนต่างๆ ที่เราต้องผ่านและดำเนินการ แต่สีที่เลือกใช้สำหรับขั้นตอนที่ยังมาไม่ถึง ผมคิดว่ามันอ่อนเสียจนทำให้ยูสเซอร์อ่านลำบาก อันนี้ต้องแยกแยะให้ออกนะครับว่า กรณีนี้เราต้องการให้ยูสเซอร์สามารถอ่านข้อความได้ โดยที่บอกได้ว่าตนเองกำลังดำเนินการมาถึงขั้นตอนไหนแล้ว

ความคิดที่อาจทำให้เข้าใจผิดก็คือ การเลือกสีที่แสดงถึงสถานะ disable (ไม่สามารถใช้งานได้) ซึ่งไม่ใช่สำหรับในกรณีนี้นะครับ เพราะขั้นตอนที่ยังมาไม่ถึงไม่ใช่มันใช้การไม่ได้ แต่เราเพียงแค่แยกมันออกจากขั้นตอนที่เรากำลังอยู่เท่านั้นเองครับ

6. ปุ่ม

set-11

สไตล์ของปุ่มที่แตกต่างกันไปทั่วทั้งเว็บ

การรักษาสไตล์ปุ่มและสถานะของปุ่มเมื่อเอาเมาส์ไปวาง (mouseover) ให้เหมือนกันทั้งเว็บ แม้จะดูเป็นเรื่องง่าย แต่เชื่อผมเถอะครับ มันกลับเป็นเรื่องยากอันดับต้นๆ ของการออกแบบเว็บเลยครับ หากไม่มีการทำ Stencil (ไฟล์หรือกลุ่มไฟล์ที่รวบรวมสไตล์ทั้งหมดสำหรับงานออกแบบหนึ่งๆ ไว้ในที่เดียว) ก็ยากที่แน่ใจได้ว่ามันจะเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งเว็บ ยิ่งเป็นการออกแบบเว็บใหญ่ๆ หลายๆ ชั้นแล้ว ยิ่งต้องระวังเรื่องนี้เลยครับ เพราะไฟล์งานและรูปแบบจะมาจาก desinger หลายๆ คน

set-12

การเลือกใช้สีที่ไม่ได้กระตุ้นการกดเมื่อเอาเมาส์วางบนปุ่ม

และสีที่ใช้ตอนเมาส์วางบนปุ่ม สมัครเป็นสมาชิก กดที่นี่ ก็ไม่ควรใช้สีเทานะครับ เราต้องสีที่กระตุ้นหรือเพิ่มความมั่นใจให้กับยูสเซอร์ ไม่ใช่ไปลดหรือทำให้ยูสเซอร์เกิดความลังเล อย่างเช่น สีเทามันเหมือนกับทำให้ปุ่มนี้มัน disable หรือไม่พร้อมใช้งาน เป็นต้น

7. เมนูย่อย

set-13

เมนูย่อยทางด้านซ้ายแสดงผลเกินหน้าจอ

set-23

เมนูย่อยของเมนูหลักแสดงผลตกหน้าจอเนื่องจากมีรายการเยอะเกินไป

เมนูส่วนย่อยควรดูแลไม่ให้ล้นตกจอไป แม้เราออกแบบเว็บบนหน้าจอที่ใหญ่ แต่ควรคำนึงถึงผู้ใช้ที่ส่วนใหญ่ยังคงดูเว็บผ่านโน้ตบุ๊คอีกเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน

8. กราฟ

set-14

การทำสไตล์เพื่อระบุกราฟที่กำลังเรียกดู

ตรงส่วนแสดงกราฟเส้นก็ควรไฮไลท์หน่อยว่าตอนนี้เรากำลังดูกราฟของอะไรอยู่ อันทางขวาก็คือดีไซน์ที่ผมทำมาแนะนำ ซึ่งอันที่เรากำลังดูอยู่จะเป็นลิงค์ที่กดไม่ได้แล้ว และมีสไตล์ให้ต่างจากอันอื่นเพื่อบ่งบอกว่ากำลังดูกราฟไหนอยู่

9. ช่องกรอกเมื่อลืมรหัส

set-15

ฟอร์มกรอกข้อมูลเมื่อลืมรหัสผ่าน

หน้าลืมรหัสผ่านดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผ่านมือ designer เพราะดีไซน์ดูแปลก ไม่ค่อยได้สัดส่วนเท่าไรนัก ในหน้านี้เราสามารถลดภาระการเลือกของยูสเซอร์ได้ด้วยการรวมช่อง ‘ชื่อสมาชิก + หมายเลขบัตรประชาชน‘ ให้เป็นช่องเดียวกัน

set-16

ช่องกรอกที่รวมเอาอีเมลและบัตรประชาชนเข้าไว้ด้วยกัน

หลังจากนั้นก็เอาภาระนั้นมาไว้ในฝั่งของ developer เพื่อตรวจสอบว่าข้อมูลที่ยูสเซอร์ใส่เข้ามาเป็นข้อมูลรูปแบบใด (data validation) เราควรพยายามทำให้ยูสเซอร์เลือกน้อยๆ แม้จะทำให้ทางฝั่งผู้พัฒนาเสียเวลาและกำลัง แต่ก็คุ้มที่จะเสียนะครับ เพราะเรากำลังสื่อถึงความปรารถนาอันดีต่อยูสเซอร์ด้วยเบื้องหลังงานปิดทองหลังพระ

10. รายการ

set-19

จุดด้านหน้ารายการและเส้นใต้ของลิงค์ที่ไม่จำเป็น

รายการด้านขวา Related Info. ไม่ควรจะมีจุดไว้ด้านหน้าของแต่ละรายการ เพราะมีช่องว่าง (white space) เพียงพอที่จะแบ่งแยกแต่ละรายการแล้ว

set-20

แนวของข้อความที่เป็นรายการควรจัดให้ตรงกัน

รายการควรจัดให้อยู่ในแนวเดียวกัน แม้จะมีการขึ้นบรรทัดใหม่ก็ตาม

11. ลิงค์ย่อย

set-21

การแสดงผลที่ต่างกันของลิงค์ย่อย

สไตล์ของลิงค์ย่อยควรเก็บงานให้ละเอียด เช่นพอคลิกที่ลิงค์ ผลประกอบการสำคัญ (กราฟ) กลับมีขีดคั่นโผล่ขึ้นมาเฉยเลย

set-22

สไตล์ที่แตกต่างกันของลิงค์ย่อย

ยิ่งในหน้าเดียว สไตล์ลิงค์ย่อยกลับต่างกันอีก อาจสร้างความสับสนให้กับยูสเซอร์ในการพยายามทำความเข้าใจและเรียนรู้ UI ของเว็บ

 

12. การแสดงผลบนมือถือ

ในหัวข้อนี้ผมจะขอกล่าวรวมๆ ในส่วนของตัวเว็บเมื่อแสดงบนมือถือนะครับ เพราะบางอย่างก็จะซ้ำกับหัวข้อด้านบน เพียงแต่อยากนำเสนอภาพของการรีวิวในทุกมุมมองและการใช้งานจริง

set-25

การแสดงผลของ slideshow บนมือถือ

อันดับแรก เรื่องตัวจุดบอกจำนวนสไลด์ ผมได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า มันดูยากเมื่อวางไว้บนภาพ ซึ่งก็เห็นปัญหาชัดมากขึ้นเมื่อดูบนมือถือ

set-24

ช่อง Get Quote ทีไม่กว้างเต็มพื้นที่ที่เหลือ

ช่อง Get Quote ควรจะขยายให้สุดเต็มพื้นที่ไปเลย ยูสเซอร์จะได้คลิกกรอกได้ง่ายขึ้น

set-26

การเลือกใช้คู่สีที่ผิดทำให้การอ่านมีความลำบาก

สีพื้นหลังกับสีตัวหนังสือของเมนูย่อยเลือกใช้ไม่ถูกโทน ควรใช้สีที่ตัดกันมากกว่านี้ เพื่อให้อ่านได้ง่ายขึ้น

set-27

ความแตกต่างกันของสไตล์เมื่อคลิกที่ไอคอนค้นหากับเมนู

สไตล์ของเมนูตอนคลิกเลือกควรทำให้เหมือนกันตลอดทั่วทั้งเว็บ

set-28

รายการเมนูที่แสดงด้านบนเมื่อเลือก ภาษา

การแสดงผลควรเป็นไปในทางที่คาดการณ์ได้ (predictable UI) เช่น คลิกเลือก ภาษา เมนูจะแสดงให้เห็นด้านบน

set-29

ฟอร์มด้านล่างเมื่อเลือก ลงชื่อเข้าใช้

และพอคลิกที่ ลงชื่อเข้าใช้ ฟอร์มก็ควรปรากฏด้านบนเหมือนกัน (แทนที่เมนูของภาษา) แต่นี่กลับโผล่มาด้านล่าง

set-30

การแสดงผลเมื่อคลิกที่ปุ่ม TAP

ปุ่มแท็ป (TAP) เพื่อเปิดเมนูลัด ดูเหมือนจะดี แต่ผมมองว่ามันบดบังส่วนแสดงข้อมูลในทุกๆ หน้าเลย ทางที่ดีควรเอาไปอยู๋ในไอคอนเมนู แล้วทำไฮไลท์ให้เด่นกว่าเมนูย่อยอื่นๆ และวางไว้อันแรกเลย หรือจะใช้เป็น UI แบบ off-canvas (เลือนเปิดหน้าแง้มๆ) ก็ดูดีเหมือนกัน

set-31

แนวการจัดระเบียบ UI โดยการเปลี่ยนจากTab เป็น Combo box

หน้าแสดงรายละเอียดหุ้นซึ่งมีหลายแท็บ เราอาจเปลี่ยนเป็น UI combo box ซึ่งช่วยลดการใช้พื้นที่และทำให้ UI เป็นระเบียบด้วย

สรุปคะแนน

ความสวยงาม:  8/10 (แนว Flat design, เลือกธีมสีได้ลงตัว, จัดวาง layout ได้ดี)

ความถูกต้องตามหลัก UI: 5/10 (ยังขาดเรื่องรายละเอียดตามที่ได้อธิบายไปด้านบน)

การแสดงผลบนมือถือ: 6/10 (ขาดความสอดคล้องของสไตล์ และข้อมูลยังจัดเรียงสะเปะสะปะอยู่)

ความคิดสร้างสรรค์: 8/10 (มีการนำเอาฟังก์ชันการแสดงราคาหุ้นมาไว้หน้าแรกเลย, ใช้ปุ่ม TAP ในหน้ามือถือสำหรับเมนูลัด แม้ว่าจะช้าในการโหลดเมนูและบดบังข้อมูลหน้าหลัก)

ความตอบสนองต่อเป้าหมายของธุรกิจ/องค์กร: 9/10 (เสริมสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรได้เป็นอย่างดี, ให้ข้อมุลข่าวสารครบถ้วน)

รวม: 7.2 คะแนน, พอใช้

uiblogaziner
สวัสดีครับ ผมชื่อฟริ้นครับ รักและชอบงาน Graphic Design เอามากๆ เลย พอได้เริ่มทำงานเป็น UI Designer แล้ว ยิ่งสนุกขึ้นอีกแยะ งานออกแบบที่ใช้ความรู้สึกและเหตุผลเป็นอะไรที่สุดยอดจริงๆ ครับ

ซีรีย์ Photoshop ชุด GoPro ทิปที่ 6 – สร้าง Stroke 5 ชั้น ด้วย 1 เลเยอร์

Previous article

คลิก เปลี่ยน เล่น สำหรับ slideshow

Next article

You may also like

1 comment

  1. รีวิว ได้ละเอียดเลยครับ ขอบคุณครับ

Leave a reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *