สอนเทคนิคน่ารู้

อย่า APP ถ้าไม่อยากแบ๊ว

0

app-or-web-featured

จากกระแสการบูมของอุปกรณ์พกพา (mobile device) ทำให้สตาร์ทอัพหรือหลายๆ หน่วยงานพยายามนำเสนอแนวคิดการนำเอาแอปลิเคชันบนมือถือ (Mobile Application) เข้ามาเป็นสื่อกลางในการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ แต่ก็มีหลาย app ที่ทำออกมาแล้วเสียของ เพราะไม่เข้าใจจุดประสงค์และบริบทของการใช้งาน mobile app ที่แท้จริง และในบางครั้งการพัฒนา app บนเว็บ (Web Application) กลับดูดีเสียกว่าอีก

การตัดสินใจว่าจะพัฒนา app บนมือถือหรือบนเว็บดี (คำว่า ‘เว็บ’ ในบทความนี้คือ เว็บที่รองรับการแสดงผลบนมือถือ หรือ responsive website นะครับ) ผมอยากให้ลองตอบคำถาม 3 ข้อด้านล่าง หากคำตอบคือ “ใช่” ทั้งหมด mobile app คือ คำตอบสุดท้ายแน่นอนครับ

1. ต้องการให้ยูสเซอร์ใช้งานเพื่อช่วยบรรลุงานอย่างใดอย่างหนึ่ง?

app-or-web-01

เปรียบเทียบจุดประสงค์การพัฒนา app ระหว่างบนมือถือและบนเว็บ

ถ้าเราอยากทำ mobile app เพื่อให้ข้อมูล เช่น สินค้าและบริการของบริษัท, ประวัติ, ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ ขอให้ล้มเลิกความคิดที่จะทำ mobile app ได้เลยครับ เพราะ mobile app มักทำออกมาเพื่อเน้นช่วยยูสเซอร์ให้บรรลุงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ช่วยเรียกแท็กซี่, ช่วยเคลียร์ไฟล์ขยะบนเครื่อง เป็นต้น

ในขณะเดียวกันถ้าเราเน้นให้ข้อมูลแก่ยูสเซอร์ web app จะตอบสนองความต้องการตรงจุดนี้ได้ดีกว่า เพราะ เราแค่เปิด browser แล้วใช้คีย์เวิร์ดค้นหา ก็จะปรากฏข้อมูลที่ต้องการทันที (search engine ทำดัชนีข้อมูลบนเว็บ ไม่ได้ทำบน mobile app) แล้วก็คงไม่มีใครหน้าไหนที่จะหาข้อมูลบริษัทโดยเข้าไปที่ Play Store หรือ App Store แล้วค้นหาชื่อบริษัท พอเจอแล้ว ยังต้องเสียเวลาโหลด app อีกหลายเมกหลายนาที

กรณีที่งานค่อนข้างซับซ้อนและมีหลายขั้นตอน เช่น งานกรอกข้อมูลสินค้าเพื่อลงขายของ เป็นต้น เราควรเลือกที่จะพัฒนา app บนเว็บเป็นอันดับแรกดีกว่า อันเนื่องมาจากปัญหาเรื่องพื้นที่การแสดงผลที่ไม่เอื้ออำนวยกับการใช้งาน แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่ให้ทำนะครับ ทำได้ แต่ขอให้ทำเวอร์ชันเว็บก่อนที่จะทำ mobile app เพราะถ้าทำเว็บ เราจะสามารถใช้งานผ่านได้ทั้งบนเดสท็อปและบนมือถือ อีกทั้งยังใช้เวลาน้อยกว่าอีกด้วย

app-or-web-02

Facebook ทำ mobile app ย่อยออกมาเพื่อให้การใช้งานตรงจุดประสงค์และง่ายขึ้น

ผมขอเน้นนะครับว่า ทำ mobile app เพื่อช่วยงานเพียงแค่อย่างสองอย่างก็พอ หาก app ทำอะไรได้เยอะไปหมด app นั้นจะขาดความโดดเด่นเฉพาะ การใช้งานจะยากต่อยูสเซอร์ แล้วยังทำให้เครื่องช้าอีกด้วย ลองดูตัวอย่าง Facebook ที่นอกจากทำ app รวมแล้ว เค้ายังทำ app แยกออกมาเป็น Messenger – app สำหรับคุยกับเพื่อนบน Facebook หรืออย่าง Page Manager – app ช่วยบริหารจัดการหน้าเพจบน Facebook จะได้ไม่ไปปนกับ feed ส่วนตัวของเราที่อาจจะทำให้การใช้งานโดยรวมช้า

2. เกี่ยวข้องกับฟังก์ชันมือถือเฉพาะ? เช่น การระบุตำแหน่ง, การโทร

app-or-web-03

การใช้ฟังก์ชันระบุตำแหน่งหรือใช้ช้อมูลเบอร์มือถือทำได้ง่ายและตรงบริบทสำหรับการพัฒนา app บนมือถือ

ข้อดีของการพัฒนา app บนมือถือ คือการเข้าถึงฟังก์ชันระบุตำแหน่งปัจจุบันของตัวเครื่อง (ตำแหน่งของยูสเซอร์) ได้ง่ายและตรงบริบทกว่าการใช้งานผ่านเว็บ การระบุตำแหน่งผ่านเว็บอาจจะไม่แม่นยำเท่ากับ mobile app เพราะถ้าเป็น mobile app เราสามารถออกแบบให้นำเอาพิกัดจากสัญญาณ GPS เข้ามาช่วยเสริมความถูกต้องของข้อมูลได้ด้วย

อีกข้อคือ หากเป็น app ที่เกี่ยวข้องกับการโทร เช่น app เปลี่ยนเสียงเรียกเข้า, app รับสาย miss call เป็นต้น mobile app จะเป็นคำตอบทีใช่เลยครับ

3. รวย?

app-or-web-04

ค่าใช้จ่ายในการพัฒนา app บนมือถือมีค่าค่อนข้างสูง เพราะต้องทำทั้งระบบ iOS และ Android 

ข้อนี้ ขอให้ตอบง่ายๆ เลยครับว่า มีเงินพอที่จะพัฒนา app หรือเปล่า? เพราะไม่เพียงเราต้องทำให้ครอบคลุมทั้งระบบ iOS และ Android ผู้พัฒนาหรือ Developer ที่ช่ำชองการเขียนภาษาเพื่อทำ app ก็มีจำนวนน้อยกว่านักพัฒนา app บนเว็บ นั่นหมายความว่า ค่าแรงจะสูงกว่า developer ทั่วไป โดยเฉลี่ยการพัฒนา mobile app จะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 1 แสนบาทขึ้นไป ขณะที่เว็บมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 1 หมื่นบาท แล้วแต่ระดับความยากง่ายของงาน

หากเรามีงบประมาณจำกัด ลองทบทวนแผนว่า web application สามารถตอบสนองความต้องการตรงนี้ได้พอไหม แม้จะไม่เหมือน app บนมือถือ 100% ในเรื่อง performance ที่เหนือกว่า แต่ถ้าลองยอมลดสเปกลงและยังคงสามารถทำให้ยูสเซอร์บรรลุงานได้เช่นกัน คำตอบของเราที่เป็น web application ก็ดูสมเหตุสมผลดีนะครับ

สรุปคำถามก่อนทำ app

อันที่จริงยังมีคำถามเรื่องอื่นๆ อีกที่ช่วยให้เราตัดสินใจพัฒนา mobile app ดีหรือไม่  แต่ด้วยคำถามหลัก 3 ข้อนี้ก็ทำให้เรามั่นใจเกือบ 100% แล้วว่า เราควรจะพัฒนา mobile app

  • ใช้เพื่อบรรลุงานอย่างใดอย่างหนึ่งใช่ไหม
  • เกี่ยวข้องกับฟังก์ชันเฉพาะของมือถือ? ( GPS ระบุตำแหน่ง, การโทร, เซ็นเซอร์จับความลาดเอียง)
  • มีงบประมาณมากพอใช่ไหม

ถ้าคำตอบคือ ใช่ ทั้งหมด แสดงว่าเรากำลังมาถูกทางแล้ว แต่ถ้าไม่ใช่ข้อใดข้อหนึ่ง ให้กลับมาตั้งหลักใหม่ แล้วลองพิจารณาแผนพัฒนา web application ดูแทนนะครับ

ลองทายดู

ท้ายบทความผมก็มีตัวอย่าง app บางตัวที่จะมาให้ลองวิเคราะห์ดูว่า สมควรทำเป็น mobile app หรือไม่

Fixzy

screen322x572

Fixzy – app ให้บริการงานซ่อม 

App Fixzy เป็นบริการหาช่างเพื่อมาซ่อมอะไรต่างนานาที่บ้านของเรา app นี้จะเหมาะกับการเป็น mobile app หรือไม่ มาดูจากคำตอบแต่ละคำถามกันครับ

  • ใช้เพื่อบรรลุงานอย่างใดอย่างหนึ่งใช่ไหม
    • ใช่ ฟีเจอร์หลักคือ ใช้เรียกช่างมาซ่อมสิ่งของต่างๆ ที่บ้าน เท่านั้นจบ
  • เกี่ยวข้องกับฟังก์ชันเฉพาะของมือถือ? ( GPS ระบุตำแหน่ง, การโทร, เซ็นเซอร์จับความลาดเอียง)
    • มีน่าจะดีกว่า เพราะในสถานการณ์จริง ก็คงเปิด app ใช้งานอยู่ในบ้านที่จะเรียกช่างมาซ่อม
  • มีงบประมาณมากพอใช่ไหม
    • อันนี้ได้งบจากโครงการ AIS Start-Up เพราะงั้น เงื่อนไขนี้ผ่านชัวร์

สรุป app Fixzy เหมาะสมแล้วที่ทำออกมาเป็น mobile app ครับ

DLT Check

screen568x568

DLT Check – app รายงานพฤติกรรมแท็กซี่

App DLT Check ของกรมขนส่งทางบก เป็น app ที่ไว้ใช้ให้คะแนนกับแท็กซี่ที่เรากำลังนั่งหรือปฏิเสธผู้โดยสาร โดยการระบุหมายเลขทะเบียน และทำแบบสอบถามส่งให้กับกรมการขนส่ง สำหรับคำตอบของ app นี้ก็คือ

  • ใช้เพื่อบรรลุงานอย่างใดอย่างหนึ่งใช่ไหม
    • ใช่ คือ รายงานความประพฤติของแท็กซี่
  • เกี่ยวข้องกับฟังก์ชันเฉพาะของมือถือ? ( GPS ระบุตำแหน่ง, การโทร, เซ็นเซอร์จับความลาดเอียง)
    • ไม่มี ก็สามารถใช้งานบรรลุวัตถุประสงค์ได้นะครับตามความเห็นของผม
  • มีงบประมาณมากพอใช่ไหม
    • ได้งบจากรัฐต้องผลาญให้หมด ข้อนี้เลยผ่านครับ (แอบจิกนิดๆ ^^)

สรุป app DLT Check ชื่อก็ค่อนข้างจำยาก แล้วทำเป็น app อีก แล้วก็ไม่รู้จะใช้ฟังก์ชันระบุตำแหน่งทำไมหนอ ถ้าทำเป็น web app น่าจะง่ายกว่ากันเยอะ เพราะแค่ให้ระบุหมายเลขมือถือผู้แจ้ง แล้วก็ให้ใส่เลขทะเบียน สุดท้ายก็ทำแบบสอบถาม กดส่งแบบฟอร์มเข้าระบบก็เป็นอันเรียบร้อย

ผมเข้าใจว่า ถ้าทำเป็น app มันจะอยู่ติดเครื่อง กดปุ๊ปมาปั๊บก็จริง แต่ถ้าโปรโมตชื่อเว็บให้จำง่ายๆ ผมว่าน่าจะใช้งานได้เร็วและกว้างขวางกว่า ครั้งหนึ่งผมนั่งอยู่บนรถแท็กซี่ แล้วเห็นมีสติ๊กเกอร์โปรโมต app นี้ แต่เพราะเป็น mobile app ที่มันต้องใช้เวลาในการดาวน์โหลดค่อนข้างนาน จึงทำให้ตัดใจและลืมในที่สุด ดังนั้นสำหรับผมแล้ว การเข้าถึงเว็บจะง่ายต่อยูสเซอร์มากกว่าหากเทียบกับ mobile app ในบริบทที่ยกมาให้เห็นครับ

Call Zen

screen568x568 (1)

Call Zen – app ที่ให้บริการทางลัดสำหรับการโทรหาคอลเซ็นเตอร์

Call Zen เป็น app ที่ช่วยให้เราโทรหาคอลเซ็นเตอร์ได้ง่ายและเร็วขึ้น ด้วยการนำเสนอเมนูข้อความเป็นลำดับชั้นแทนการฟังจากเครื่องตอบรับอัตโนมัติ และสามารถโทรหาเจ้าหน้าที่ในหัวข้อที่เราต้องการติดต่อได้โดยไม่ต้องผ่านการรอฟังเสียง

  • ใช้เพื่อบรรลุงานอย่างใดอย่างหนึ่งใช่ไหม
    • ใช่ คือ เป็นทางลัดสำหรับการโทรหาคอลเซ็นเตอร์
  • เกี่ยวข้องกับฟังก์ชันเฉพาะของมือถือ? ( GPS ระบุตำแหน่ง, การโทร, เซ็นเซอร์จับความลาดเอียง)
    • เกี่ยวข้องกับการโทรอย่างที่สุด
  • มีงบประมาณมากพอใช่ไหม
    • ได้เงินสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดี

สรุป app Call Zen ด้วยเงื่อนไขคำตอบที่สองก็ทำให้เรารู้แล้วว่า app นี้เหมาะกับการทำเป็น mobile app อย่างมากถึงมากที่สุด

 

อ้างอิง

  • https://medium.com/strv-design/designing-for-web-vs-apps-in-the-mobile-era-a7c2fff654df#.fe9tjmn89
uiblogaziner
สวัสดีครับ ผมชื่อฟริ้นครับ รักและชอบงาน Graphic Design เอามากๆ เลย พอได้เริ่มทำงานเป็น UI Designer แล้ว ยิ่งสนุกขึ้นอีกแยะ งานออกแบบที่ใช้ความรู้สึกและเหตุผลเป็นอะไรที่สุดยอดจริงๆ ครับ

Redesign app Rush Bike

Previous article

รีวิวเว็บ GovChannel

Next article

You may also like

Comments

Leave a reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *