Freebiesเรื่องเด๊นเด่น

โหลดรูปดีๆ แบบโตไปไม่โกง

0

 

เว็บสมัยใหม่ เราจะเห็นการใช้รูปใหญ่ๆ ทำเป็นพื้นหลังแล้วเขียนทับด้วยตัวหนังสือที่สื่อถึงสินค้าหรือบริการหลักของเว็บ ยิ่งเป็นเว็บท่องเที่ยวด้วยแล้ว การหารูปสถานที่ท่องเที่ยวมาดึงดูดให้อยากไปเที่ยวนี่สำคัญมาก แน่นอนว่าถ้าเราอยากได้รูปดีๆ สวยๆ มาใช้งาน ก็อาจเข้าไปซื้อที่เว็บขายภาพระดับโลกอย่าง Shutterstock แต่ใช่ว่าคนไม่มีตังค์จะไม่สามารถหารูปสวยๆ งามๆ ได้เลย จากประสบการณ์การหาภาพมากว่าพันๆ รูป โดยเฉพาะในแวดวงท่องเที่ยว ผมเห็นว่ามีหลายๆ เว็บ เปิดช่องทางให้ดีไซน์เนอร์ได้โหลดภาพมาใช้งานแบบฟรีๆ  แถมไม่ค่อยมีเงื่อนไขผูกมัดอะไรมากนักด้วยครับ เราจะได้ไม่ต้องเสี่ยงเรื่องลิขสิทธิ์รูปภ่าย ซึ่งหากถูกจับได้ ก็ต้องเสียค่าปรับตั้งแต่ 20,000 บ. จนถึง 800,000 บาท ถ้าเลวมากก็อาจแถมจำคุกด้วยล่ะ เรื่องภาพนี่เรื่องใหญ่จริงๆ นะครับ

ภาพ = 1,000 คำพูด

สมการนี้คงไม่เกินจริง เพราะผมมองว่า การหาภาพดีๆ สักภาพ เป็นหนึ่งในขั้นตอนการออกแบบ UI ที่สำคัญลำดับต้นๆ เลยครับ ใช้แรงน้อยที่สุด แต่ผลลัพธ์ที่ได้ คุ้มค่าสุดๆ เลยครับ ผมจึงอยากแนะนำช่องทางที่จะทำให้พวกเราเข้าถึงแหล่งภาพดีๆ ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีทั้งเว็บที่ปกติต้องเสียเงิน แต่เค้าเปิดให้ทดลองโหลดภาพไปใช้ฟรีๆ แล้วก็เว็บแบบที่ให้ฟรีอยู่แล้วครับ

โหลดภาพจากเว็บขายภาพแบบไม่เสียเงิน

ก่อนที่จะแนะนำเว็บขายภาพที่ให้เราทดลองโหลดภาพไปใช้ฟรีๆ ผมอยากเตือนให้พวกเราระวังการโหลดภาพที่เป็น “Editorial Use Only” ซึ่งภาพประเภทนี้เค้าห้ามเราเอาไปใช้ในเชิงพาณิชย์หรือสื่อโฆษณาเพื่อหวังผลกำไรนะครับ แต่ถ้าเอาไปประกอบบทความ เพื่อเป็นภาพสื่อประกอบข้อความ อย่างนี้ได้ครับ

free-photos-19

รายละเอียดรูปภาพจากเว็บ Shutterstock ที่มีการให้ข้อมูลเรื่องข้อจำกัดการนำมาใช้

ลองดูภาพตัวอย่างจากเว็บ Shutterstock ดูครับ ถ้าเราเห็นรูปสวยๆ อย่าพึ่งรีบกดดาวน์โหลดนะครับ ให้เราคลิกเข้าไปดูรายละเอียดด้านในด้วย สังเกตตรง Release Information มีเขียนว่า “Editorial Use Only” หรือไม่ หากมี ขอให้ตัดใจจากภาพนี้นะครับ

ภาพประเภท Editorial Use Only ส่วนใหญ่จะเป็นภาพทีมีการถ่ายติด(หน้า)คน หรือมีการถ่ายติดแบรนด์สินค้า ซึ่งเค้ามองว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและเป็นการโฆษณาให้กับแบรนด์ทางอ้อม จึงไม่อนุญาตให้นำภาพไปใช้เพื่อการค้าประมาณนี้ครับ

free-photos-19_3

รูปที่มีการถ่ายติดคนหรือแบรนด์ มักจะติด License Editorial Use Only

ด้วยเหตุนี้ การหาภาพสถานที่ที่เป็นแหล่งช้อปปิ้งสักรูป (แบบว่าไม่ต้องสวยก็ได้) จึงถือว่าเป็นความยากระดับ 5 ดาวเลยครับ แม้มีเงินจะจ่าย ก็ไม่สามารถซื้อไปใช้งานได้ ผมเจอมาหลายครั้งแล้วครับ เช่น จะหารูปย่านชิบูย่า, หรือชินจูกุ ซึ่งรูปที่ต้องการอยากให้มีบรรยากาศคนเยอะๆ เห็นร้านรวงเรียงแถว แต่สเปครูปที่ต้องการแบบนี้คือ อยู่ในข่าย Editorial Use บางทีก็ต้องยอมลดสเปกภาพลง หรือลองมองหาภาพจากแหล่งอื่นที่ผมกำลังจะแนะนำต่อไปในบทความนี้ครับ

free-photos-19_1

วิธีการเลือกกรองดูเฉพาะภาพที่ไม่ติด License Editorial Use สำหรับเว็บ Shutter Stock

ดังนั้น ถ้าเรากำลังค้นหารูปในเว็บขายภาพ ให้เราใช้ฟังก์ชันกรองเอาภาพประเภท Editorial Use Only ออกจากการค้นหาเลยครับ จะได้ไม่ต้องมานึกเสียใจภายหลัง สำหรับเว็บ Shuttterstock ก็เลือกเมนูตามภาพด้านบนครับ (More > Editorial: Non-Editorial ) ส่วนเว็บอื่นๆ ก็อยู่ในส่วนพวก Advanced Search… อะไรทำนองนี้เนอะ ไม่ยากๆ

free-photos-19_2

รูปนางแบบที่มีการเซ็นยินยอมให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างอิสระ

แต่ก็จะมีคนสงสัยได้อีกว่า อย่างงี้ รูปนางแบบ หรือรูปคนที่เหมือนจงใจจัดฉากนี่ ก็ใช้ในเชิงการค้าไม่ได้ด้วยเหรอ อันนี้ไม่ต้องกังวลครับ ขอให้เราดูตรงที่ Release Information เช่นเดิม ตัวอย่างภาพรูปนางแบบด้านบนคนนี้เค้าบอกว่า รูปนี้มีการลงทะเบียน (เซ็นยินยอม) เป็นภาพนางแบบกับทาง Shutterstock เรียบร้อยแล้ว สามารถนำไปใช้ในงานได้เลยครับ

เอาล่ะ หมดข้อเตือนข้อควรระวังแล้ว ได้เวลาโหลดของฟรีแล้ว เย้ ^0^ /

1. โหลดภาพจากเว็บขายภาพ Bigstockphoto

free-photos-01

เว็บ Bigstockphoto มีให้ทดลองดาวน์โหลดภาพฟรี 7 วัน วันละ 5 รูป

เว็บ Bigstockphoto เรียกได้ว่าเป็นเว็บขวัญใจผมเลยนะ เพราะความจริงเว็บนี้เป็นเว็บขายภาพ ซึ่งบริหารจัดการโดย Shutterstock แต่ด้วยความใจดีแฝงด้วยกลยุทธ์อันแยบยล เค้ามีแพ็คเกจให้เราได้ทดลองดาวน์โหลดภาพฟรี 7 วัน วันละ 5 รูป เบ็ดเสร็จก็ 35 รูป ไม่ต้องเสียเงินจริงๆ ครับ

ทว่า สิ่งที่ต้องการในการโหลดภาพฟรีมีเพียง 2 อย่างครับ คือ

  • บัตรเครดิตเพื่อลงทะเบียนเป็นตัวประกัน ไม่ต้องกลัวนะครับ เพราะการันตีชื่อ Shutterstock อุ่นใจได้
  • อีกข้อที่สำคัญมากๆ คือ ความมีวินัยตรงต่อเวลา อย่าลืมกดยกเลิกสมาชิกในวันสุดท้าย ไม่งั้นวันถัดไปเค้าจะตัดตังค์จากบัตรเครดิตเราทันทีล่ะ ทำอย่างไง? มีบอกด้านล่างนี้ครับ

 

free-photos-01_3

เมนูเพื่อเข้าดูรายละเอียดแพ็คเกจที่ใช้งานอยู่

ผมจะขอข้ามขั้นตอนการลงทะเบียนไปนะครับ หลังจากที่เราสร้าง Account โดยเลือกแพ็คเกจ $79/เดือน และใส่หมายเลขบัตรเครดิตเรียบร้อยแล้ว ให้เราลองเลือกไปที่เมนูชื่อยูสเซอร์ของเราที่ลงทะเบียนไปเมื่อสักครู่ แล้วเลือกเมนูย่อย ‘My Account’

 

free-photos-01_2

ขัอมูลสำคัญของหน้ารายละเอียดแพ็คเกจที่เรากำลังสมัครใช้งานอยู่

เราก็จะมาเข้าสู่หน้าแพ็คเกจที่เรากำลังใช้งานอยู่ “ปุ่มยกเลิกการเรียกเก็บเงินอัตโนมัติ” อยู่ตรงหมายเลข 3 นะครับ จำไว้ให้ดีๆ หมายเลข 1 บอกว่าโควต้าการโหลดรูปรอบหน้าต้องรออีกกี่ชั่วโมงกี่นาที แต่ที่น่าจดจำกว่าคือหมายเลข 2 ซึ่งจะบอกว่า วันและเวลาของแพ็คเกจฟรีนี่จะสิ้นสุดเมื่อไร ให้เราระวังเรื่องกับนับเวลาหน่อยนะครับ

โดยเวลาจะแสดงตามแบบมาตรฐาน Eastern Time (EST) ซึ่งเป็นเวลาของแถบอเมริกาตะวันออกที่เดินช้ากว่าเวลามาตรฐานโลก (UTC) อยู่ 5 ชม. ขณะที่ประเทศไทยมีเวลาที่เร็วกว่าเวลามาตรฐานโลกอยู่ 7 ชม. (GMT+7) ทำให้ได้ผลต่างของช่วงเวลา คือ 5+7 = 12 ชม. พูดง่ายๆ คือ เวลาหมดอายุให้นำเอาเวลาประเทศไทย ณ ปัจจุบันลบด้วย 12 ชม. เช่น ถ้าตอนนี้บ้านเราเป็นเวลา 21:00 น. เวลาของ EST จะเป็น 9:00 น. (21-12 = 9)

ผมจึงอยากแนะนำว่า ถ้าเอาชัวร์เราควรยกเลิกแพ็คเกจก่อนล่วงหน้าวันนึงไปเลย ยอมเสียไป 5 รูป ยังดีกว่าเรามาเสียรู้เรื่องการนับเวลาพลาดไป เผื่อหลงลืมจำวันคลาดไปวันนึงด้วย เพราะหนึ่งในกฏของการออกแบบ UX/UI ก็คือ ยูสเซอร์ความจำสั้น ทำให้ Bigstockphoto เค้ากล้าใช้กลวิธีแจกของฟรี แน่นอนว่าต้องมีมนุษย์หลายๆ คน ดาวน์โหลดภาพฟรีไม่ครบ 7 วัน แถมยังหลงลืมที่จะยกเลิกการตัดเงินอัตโนมัติอีก Mega Clever จริงๆ สุดท้ายจึงต้องจำใจสมัครแพ็คเกจ

แต่ถ้าพลาดไป ผมก็ถือว่าราคาเรทนี้ไม่แพงเลยนะครับ เพราะตกเฉลี่ยอยู่รูปละแค่ 20 กว่าบาทเองครับ (ถ้าตอนแรกเราเลือกแพ็คเกจ $79/เดือน , $0.53/รูป) ส่วนเรทเว็บ Shutterstock ขายอยู่ภาพละ 300-400 บาท ดีกว่าตรงที่มีรูปให้เลือกเยอะกว่า ใหม่กว่า หลากหลายกว่าครับ

สำหรับผมแล้ว รุูปใน Bigstockphoto ก็มีคุณภาพสูงและมีจำนวนให้เลือกเยอะเพียงพอแล้วครับ รูปที่ผมหาเจอและอยากได้ใน Shutterstock ก็สามารถหาได้ใน Bigstockphoto ก็เยอะแยะครับ เป็นเว็บขายภาพที่น่าประทับใจจริงๆ นะ จุดสำคัญคือ อย่าลืมยกเลิกการตัดเงิน ก่อนกำหนดหรือถ้าให้ชัวร์ยกเลิกก่อนล่วงหน้า 1-2 วันเลยครับ จะได้สบายใจ ^^

อีกอย่าง ถ้าใครมีบ้ตรเครดิตหลายใบก็มีโอกาสใช้แพ็คเกจทดลองโหลดภาพฟรีตามจำนวนบัตรที่มีเลยครับ ผมเลยชอบไง 😉

2. โหลดภาพจากเว็บขายภาพ Graphicstock

free-photos-10_1

เว็บ Graphicstock ให้เราโหลดภาพฟรี 7 วัน วันละ 20 รูป

ขั้นตอนการดาวน์โหลดภาพจะคล้ายๆ กับเว็บ Bigstockphoto โดยต้องสมัครสมาชิกและใส่ข้อมูลบัตรเครดิตเป็นตัวประกัน จากนั้นเค้าจะให้ดาวน์โหลดภาพฟรี 7 วันเช่นกัน แต่วันละ 20 รูป เราก็จะได้รูปฟรีเหนาะ 140 รููปแหนะ ใจป๋ากว่าเว็บ Bigstockphoto อีก

แต่รูปของเว็บ Graphicstock ผมว่าคุณภาพปานกลางนะ ส่วนใหญ่จะเน้นเป็นภาพเว็คเตอร์ (Vector) หรือรูป Illustrator ต้องเลือกหน่อย ของดีก็มีอยู่บ้าง พวกรูปถ่ายอย่างสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งก็หาไม่เจอนะ แต่ก็พอมีอยู่บ้างถ้าเป็นที่เที่ยวดังๆ เมืองใหญ่ๆ ครับ

แน่นอนว่าอย่าลืมยกเลิกแพ็คเกจทดลองก่อนที่ระบบจะตัดเงินจากบัตรเครดิตล่ะ แต่ถ้าพลาดก็เสียไป $49/เดือน ซึ่งให้เราโหลดรูปได้ไม่จำกัด เอาปริมาณเข้าล่อนั่นเองเว็บนี้

 

3. โหลดภาพจากเว็บขายภาพ Creativemarket

free-photos-05

เว็บ Creativemarket แหล่งรวมงานสร้างสรรค์เพื่อดีไซเนอร์

เว็บ Creativemarket จะเน้นขายภาพพวกฉากที่มีจัดแสงและองค์ประกอยที่ดูดีมีสกุล และฟอนต์ลายมือครับ โดยแต่ละวีคเนี่ยเค้าจะมีการแจกภาพและฟอนต์สวยๆ ให้สมาชิก สัปดาห์ละ 6 ชิ้น นั่นหมายความว่า เราจะเลือกรูปไม่ได้ ต้องโหลดรูปที่เค้าเลือกมาให้เราเท่านั้น

ช่องทางการเข้าถึงของฟรี ก็ตามรูปด้านบนเลยครับ คลิกไปที่เมนู “Get Free Goods”

 

free-photos-05_1

Creativemarket จะให้เราโหลดไอเท็มฟรี 6 อย่าง แต่ละสัปดาห์

อย่างสัปดาห์คริสมาสต์เนี่ย รูปที่ทางเว็บแจกฟรี ผมว่าก็ค่อนข้างเจ๋งเลยนะครับ ส่วนเรื่องคุณภาพรูปหรือกราฟิคเนี่ย ไม่ต้องห่วงครับ เพราะเว็บนี้คัดสรรแต่ผลงานคุณภาพมาลงขายครับ

ใครทำงานสายกราฟิค แนะนำให้บุคมาร์คเว็บนี้เก็บไว้เลยนะ แล้วใส่ในตารางชีวิตประจำวันเลยว่า ทุกสัปดาห์ต้องมาโหลดของฟรีที่นี่ นอกจากได้ของฟรีติดมือแล้ว ยังได้อัพเดทเทรนด์กราฟิคดีไซน์แถมเป็นไอเดียด้วย ตลาดของความคิดสร้างสรรค์เพื่อคนสร้างสรรค์จริงๆ

 

4. โหลดภาพจากเว็บขายภาพ Graphic River

free-photos-06

Graphicriver แหล่งรวมฟอนต์ โลโก้ ไอคอน รูปภาพ ที่หลากหลาย

เว็บ Graphicriver หนึ่งใน 7 ขุนพลของเครือเว็บ Envato ที่ให้บริการขายภาพที่เน้นกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นดีไซเนอร์ หรือจะว่าไปก็คล้ายๆ กับเว็บ Creativemarket แนวงานจะหลากหลายกว่าครับ แต่ถ้าเป็นภาพพวก Mockup จัดฉากนี่ หาใน Creavtivemarket จะง่ายกว่านะ

 

free-photos-07 Graphic River จะให้เราโหลดภาพฟรี เดือนละครั้ง

ช่องทางการเข้าถึงของฟรี ก็ให้เข้าหน้าเว็บ Graphicriver จากนั้นเลื่อนลงมากลางๆ หน้า จะเห็นคำว่า “…Free Items” ก็หยุดตรงนั้นเลยครับ

เว็บ Graphicriver จะงกหน่อยนะครับ เพราะเค้าให้ดาวน์โหลดภาพฟรี แค่เดือนละรูปเองล่ะ แต่เว็บในเครืออื่นก็มีให้ดาวน์โหลดของฟรีเช่นกันนะครับ ส่วนตัวผมชอบดาวน์โหลดไฟล์เสียงจาก Audiojungle ครับ เป็นเพลงลูปบ้าง เพลงประกอบ Intro บ้าง ฟังเพลินๆ ครับ และเป็นลูกค้าประจำเว็บ Themeforest ดีไซน์เนอร์ต้องรู้จักเว็บนี้ชัวร์ ขอนอกเรื่องหน่อยนะ แฮะๆ ^^

จะโหลดภาพฟรีได้ต้องสมัครสมาชิกก่อนนะ  Account เดียวสามารถใช้ดาวน์โหลดของฟรีจากเว็บในเครือของ Envato ได้หมดเลย สมัครเถอะครับ ไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ

 

5. โหลดภาพจากเว็บแจกภาพ (คุณภาพสูง)

free-photos-09

เว็บ Picjumbo แจกรูปใหญ่ คุณภาพคับจอ

หัวข้อนี้มีคนนำมาเขียนไว้เยอะแล้ว ผมจึงขอนุญาตใส่แค่ลิงค์ของเว็บแจกภาพคุณภาพสูงเท่านั้นพอนะครับ

  • Unsplash – เว็บแจกภาพฟรี ขวัญใจดีไซเนอร์ มี API ให้เอาใช้แสดงภาพด้วย
  • Picjumbo – ตามชื่อเลย แจกภาพขนาดจัมโบ้ คุณภาพคับจอ
  • Imcreator – เว็บลำดับต้นๆ ที่ริเริ่มแนวคิดแจกรูปฟรีที่คุณภาพสูง
  • Pixabay – เว็บแจกรูปฟรีที่มีรูปมากที่สุด
  • Pixels –  แหล่งรวมเอารูปฟรีจากหลายๆ เว็บมาไว้ในที่เดียว เช่น มีรูปจาก Unsplash, Pixabay เป็นต้น

 

6. โหลดภาพจากเว็บสารานุกรมWikipedia

free-photos-20

เว็บสารานุกรมแบบเปิด Wikipedia

เว็บ Wikipedia เป็นเว็บสารานุกรมออนไลน์แบบเปิด (Open-source encyclopedia) ที่ให้ยูสเซอร์ใครก็ได้เป็นผู้สร้างสรรค์เนื้อหา ภายใต้ลิขสิทธิ์ Creative Commons… มันคืออะไรเหรอ เดี๋ยวผมอธิบายสั้นๆ ให้ฟังแล้วกันนะ เพราะสำคัญมากๆ สำหรับการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์สมัยนี้

 

cc

โลโก้ Creative Commons

Creative Commons เป็นหน่วยงานกลางไม่แสวงผลกำไร (Non-profit organization) ที่ได้กำหนดมาตรฐานลิขสิทธิ์สื่อดิจิตอล โดยเปิดโอกาสให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้มอบลิขสิทธ์ของผลงานตัวเองบางส่วนภายใต้เงื่อนไขบางอย่างที่มีอยู่หลายๆ ระดับ

หลายๆ ครั้งเราจะพบเจอคำว่า “Some Rights Reserved” ก็เดาได้เลยว่า ผลงานนั้นน่าจะกำลังใช้ลิขสิทธิ์ Creative Commons ปกป้องผลงานตัวเองอยู่ นั่นหมายความว่า เรามีหวังที่จะนำเอาผลงานนั้นมาใช้งานหรือดัดแปลงต่อได้ครับ

ผลงานส่วนใหญ่ภายใต้ลิขสิทธิ์แบบ Creative Commons จะยอมให้เราเอาไปใช้งานต่อได้ เราต้องให้เครดิตเจ้าของผลงาน โดยมีการสร้างลิงค์กลับไปที่แหล่งต้นแบบผลงาน และก็มีบางผลงานที่ให้อำนาจสิทธิ์เต็มที่เลย คือ เราจะเอาใช้ทำอะไรต่อก็ได้ ไม่ต้องให้เครดิตก็ได้ แม้กระทั่งเอาไปขายต่อก็ยังได้เลย แต่ก็น้อยครับ

nc-cc

สื่อไอคอนเงื่อนไขการนำผลงานไปใช้ต่อ ซ้ายคือ ต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาของผลงาน, ขวาคือ ห้ามนำไปใช้ในเชิงพาณิยช์

บางเงื่อนไข อาจไม่ยินยอมให้เรานำไปใช้เพื่อการค้าเลยนะครับ ถ้าเราคลิกเข้าไปที่รูปเพื่อดูรายละเอียด แล้วเจอไอคอนเงินดอลลอร์ขีดฆ่า (ไอคอนด้านขวา) หรือเขียนว่า CC by NC (Creative Commons by Non Commercial Use) ขอให้เข้าใจเลยว่า ห้ามเราเอารูปนี้ไปใช้ในเชิงการค้านะครับ ห้ามๆๆ

เว็บแจกภาพฟรีด้านบนที่ผมลิสต์ให้ ความจริงก็อยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ Creative Commons เช่นกันครับ แต่เป็นระดับ CC0 ที่เจ้าของผลงานเค้าเปิดกว้างให้เรานำไปใช้ได้แบบไม่มีเงื่อนไขใดๆ เลยครับ รวมถึงไม่ต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาด้วย ประเสริฐแท้

 

free-photos-21

ภาพประกอบบทความของเว็บ Wikipedia ที่เปิดโอกาสให้เรานำภาพไปใช้งานได้

กลับมาที่เรื่องหารูปในเว็บ Wikipedia  หลายครั้งผมเคยเจอปัญหาเรื่องหารูปของแหล่งช้อปปิ้งไม่เจอในเว็บขายภาพอย่าง Shutterstock หรือหาเจอแต่ดันติด License Editorial Use Only ส่วนรูปที่ไม่ติด License คุณภาพก็งั้นๆ จะยอมเสียเงินซื้อก็ดูไม่สมราคา ก็เลยลองหาใน Wikipedia ดู ก็เจอรูปของสถานที่ท่องเที่ยวที่อยากได้ คุณภาพรูปก็กลางๆ แต่ดีกว่าตรงที่ไม่ต้องเสียตังค์ซื้อ รูปภาพส่วนใหญ่จะแสดงอยู่ข้างๆ บทความ เราก็แค่คลิกแล้วก็เซฟเก็บไว้ใช้ได้เลยนะ ถ้าจะให้ดีสุดคือ ควรลงแหล่งอ้างอิงของรูปภาพไว้หน่อยก็ดี เพราะเว็บ Wikipedia เค้าอยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ Creative Commons ระดับที่ร้องขอเรื่องการให้เครดิตผู้สร้างสรรค์ผลงาน โดยสามารถนำไปใช้ในเชิงการค้าได้ไม่มีปัญหาแน่นอน

 

7. โหลดภาพจากเว็บเก็บภาพ Flickr

free-photos-24_1

การเลือกดูภาพที่ไม่ติดเงื่อนไขที่ห้ามนำไปใช้ในเชิงการค้าในเว็บ Flickr

เว็บ Flickr เป็นเว็บเก็บภาพที่แสนยิ่งใหญ่ มีนักถ่ายภาพมืออาชีพหลายๆ คนมาลงอวดผลงานตัวเองไว้ที่นี่ แต่ก็ปะปนไปด้วยรูปมือสมัครเล่นไปซะเยอะเหมือนกัน การค้นหารูปไปใช้เพื่อในเชิงการค้าจากเว็บ Flickr ก็ไม่ยากเลยครับ เพียงแค่เราเลือกตัวกรอง License แบบ Commercial Use Allowed ก็อุ่นใจว่าเราจะไม่เผลอเจอรูปที่ห้ามไปใช้ในเชิงการค้าแล้วเอาไปใช้

 

free-photos-24_2

รายละเอียดรูปภาพและลิขสิทธิ์บนเว็บ Flickr

แม้เราจะเลือกดูภาพที่สามารถเอาไปใช้ทำมากินได้แล้ว แต่ก็อย่าพึ่งชะล่าใจนะ ให้เราคลิกเข้าไปดูรายละเอียดเงื่อนไขข้างในต่อด้วยว่า ช่างภาพเค้าเรียกร้องอะไรเราเป็นพิเศษเพิ่มเติมหรือเปล่า

อย่างกรณีภาพตัวอย่าง ให้สังเกตมุมขวาบน เราจะเห็นเค้าเขียนว่า Some rights reserved ก็เดาได้เลยว่า มีลิขสิทธิ์ Creative Commons ด้านซ้ายมีไอคอนรูปคน หมายความว่า ให้เราอ้างอิงชื่อคนสร้างสรรค์ผลงานหน่อยนะ ส่วนวิธีการจะอ้างอิงยังไง ช่างกล้องคนนี้เค้ามีเขียนบอกวิธีไว้ทางด้านซ้ายให้อ่านแล้วครับ แต่โดยทั่วไปถ้าไม่มีเขียนอะไร ก็แค่ใส่ลิงค์กลับมาที่หน้านี้ก็เพียงพอแล้วครับ

 

8. โหลดภาพจากเว็บองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยว

8.1 เว็บธนาคารรูปภาพของสวีเดน

free-photos-12

เว็บธนาคารรูปภาพสวีเดน

ผมชอบแนวคิดของรัฐบาลสวีเดนมากๆ เลยครับ ในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวสวีเดนด้วยการจัดทำเว็บธนาคารรูปภาพสวีเดน (Image Bank Sweden) ขึ้นมา

 

free-photos-13

ตัวเลือกประเภทรูปภาพบนเว็บธนาคารรูปภาพสวีเดน

ดีไซน์แนว Minimalism ตามแบบฉบับคล้าย IKEA ที่สวยเรียบง่าย เน้นฟังก์ชันการใช้งาน ซึ่งการค้นหาภาพทำได้ง่ายมากเลยครับ เพราะเค้าแบ่งประเภทรูปภาพได้อย่างน่าสนใจเอามากๆ เลยครับ เช่น ภาพ OUTDOOR, ภาพกลางวัน, ภาพกลางคืน, ภาพตามฤดูกาล

free-photos-14

ขนาดและคุณภาพของรูปภาพที่ให้ดาวน์โหลด

ภาพที่แจกก็แบบว่าจัดเต็มจริงๆ ขนาดโคตรจัมโบ้เลย ลองดู Full size ครับ 8268 x 5548 สุดๆ จริงๆ ความสวยของภาพไม่ต้องพูดถึง ระดับมืออาชีพแน่นอน

ข้อจำกัดคือ เค้าห้ามคนสวีเดนเอาไปใช้ แล้วก็อย่าเอาไปขายต่อเท่านั้นเอง ผมจึงชอบเอาภาพของเว็บนี้ไปใช้ เวลาจะทำสื่อท่องเที่ยวเกี่ยวกับยุโรปครับ สุดฟินแลนด์จริงๆ

 

8.2 เว็บห้องสมุดรูปภาพประเทศญี่ปุ่น

free-photos-03

เว็บห้องสมุดรูปภาพญี่ปุ่น โดยองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น

องค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่นก็ไม่ยอมแพ้ครับ เว็บห้องสมุดรูปภาพของประเทศญี่ปุ่นก็นำเสนอรูปภาพทั่วทุกภูมิภาคมาให้พวกเหล่าเอเจ้นท์ที่ขายทัวร์ญี่ปุ่นสามารถเข้ามาค้นหาภาพประกอบโปรแกรมทัวร์แบบสบายๆ เลย

 

free-photos-04

การแบ่งประเภทรูปภาพเป็นส่วนสำคัญมากๆ เลยนะครับ สำหรับเว็บที่นำเสนอความเป็นชาติของตัวเอง เพราะบางทีหาจากคำค้น ก็อาจจะนึกคำไม่ค่อยออก การเลือกจากลิสต์ประเภทจะช่วยเรื่องการค้นหาภาพที่ต้องการได้ดีทีเดียวครับ

8.3 เว็บแกลอรี่ประเทศไทย

free-photos-15

เว็บ Amazing Thailand โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ประเทศไทยเราก็ไม่แพ้กันครับ การท่องเที่ยวคือธุรกิจหลักของประเทศ ททท ก็มีสร้างผลงานเรื่องโปรโมตการท่องเที่ยวอยู่เรื่อยๆ เสมอมา ดังเช่นเว็บแกลอรี่การท่องเที่ยว Amazing Thailand อันนี้ครับ

 

free-photos-16_1

ช่องทางการเข้าถึงรูปภาพจากเว็บการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

หรือจะเข้าไปที่เว็บของการท่องเที่ยวแห่งประเทศแล้ว คลิกลิงค์ตรง footer เมนู Multimedia แล้วเลือกหมวด Photos ก็จะเจอรูปสวยๆ ทั่วแดนไทยให้เราเอาไปใช้ได้เลยครับ

 

มารยาทการใช้ของฟรี

เว็บที่ให้เราโหลดภาพฟรี ผมขอแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ เว็บขายภาพแต่ให้ทดลองโหลดฟรีหรือนำเสนอของฟรีเป็นช่วงๆ เวลา และแบบให้ฟรี แต่มีเงื่อนไขการนำไปใช้งาน

แบบแรก เว็บขายภาพแต่มีให้โหลดฟรี ผมจะเน้นเรื่องความมีวินัยครับ คือ ต้องเข้าไปโหลดภาพสม่ำเสมอในช่วงเวลาที่ให้ทดลองโหลดภาพ และอย่าลืมเข้าไปยกเลิกสมาชิกเมื่อถึงวันครบกำหนดการใช้งานแพ็คเกจทดลองฟรี

ส่วนเว็บที่ขายภาพที่ทางเว็บเลือกภาพมาให้โหลดฟรี เราก็ทำเป็นงานอดิเรก เข้าแวะเยี่ยมชมเว็บเพื่อโหลดภาพทุกวีคหรือทุกเดือน แถมได้ชมผลงานอื่นๆ ระหว่างทางด้วย ก็ไม่เลวใช่ไหมครับ?

แบบที่สอง เว็บที่แจกภาพฟรี, เว็บสารานุกรม Wikipedia, เว็บส่งเสริมการท่องเที่ยว ก็ต้องระวังเรื่อง License Creative Commons ว่าเค้าตั้งไว้ระดับไหน โดยให้เราระวังระดับที่เค้าห้ามไปใช้ในการค้าเป็นกรณีพิเศษ ถ้าเป็นระดับอื่น ผมว่าคงยังพอไกล่เกลี่ยได้ไม่ยาก

เหล่านี่คือมารยาทการใช้รูปภาพที่เค้าแจกฟรี เราจะได้ไม่ต้องไปแอบจิ๊กภาพลิขสิทธิ์มาใช้ โตไปจะได้ไปอวดลูกหลานได้ว่า เราไม่เคยโกงเอาภาพของคนอื่นมาใช้หากินอย่างผิดเงื่อนไข ผิดกติกา

โตไปไม่โกง…. เนอะ  หม่อมฯ ต้องชื่นชมบทความนี้แน่ๆ ฮิๆๆ ヘ(= ̄∇ ̄)ノ

…. ยังมีต่อ อ่านต่ออีกสักนิดนะ

***********************************

เบื้องหลังงานเขียน

บทความนี้ผมมีความตั้งใจอยากจะเขียนมาตั้งนานแล้ว แต่หาเวลาว่างเขียนไม่ได้สักที จนพอมีเวลาบ้างหลังจากแคมเปญ Sale ท้ายปีจบ ประจวบกับได้ทราบข่าวการจากไปของเพื่อนร่วมงานสมัยทำงานอยู่ที่ agoda จึงอยากจะเร่งทำความดี เพราะเวลาที่เหลือน้อยลงทุกทีๆ และชีวิตเราเองก็ไม่รู้จะถูกหยุดเมื่อไร สิ่งที่ผมพอทำได้ก็คือ การได้แบ่งปันความรู้ในสิ่งที่ชอบ นั่นก็คือ งานออกแบบกราฟิคดีไซน์ และ UI/UX

จึงอยากมอบบทความนี้  แด่ Robert Xia เพื่อนร่วมงานที่ผมเคยทำงานด้วย เค้าเป็นคนที่เก่งมากๆ เลยคนหนึ่ง Robert จบจาก MIT เลยนะ ผมก็ไม่เคยคิดว่าจะได้เจอเด็ก MIT ในชีวิตนี้เลย แถมได้มีโอกาสร่วมทำงานกันอีกด้วย หากเพื่อนๆ เคยจองโรงแรมผ่าน agoda แล้วเจอโรงแรมลับ หรือ secret deal โปรเจ็คนี่แหละคือผลงานชิ้นแรกของ Robert โดยมีผมเป็นดีไซเนอร์ออกแบบโลโก้และ UI หน้า secret deal

นี่คือจุดเริ่มต้นที่ผมได้รู้จัก Robert

จากนั้นเค้าก็ทำโปรเจ็คที่ช่วยเพิ่มผลกำไรให้ agoda แบบมีนัยยะสำคัญเลยนะ นั่นคือ การนำเสนอขายของเพิ่มหลังจากที่ลูกค้าได้ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าไปแล้ว ภาษาอังกฤษการนำเสนอขายของเพิ่มคือ “Upsell” ยกตัวอย่างเช่น หากเราเลือกห้องที่ไม่มีอาหารเช้า ระบบก็จะนำเสนอขายห้องในลักษณะเดียวกันที่มีอาหารเช้าซึ่งราคารวมสูงกว่าแบบไม่มีอาหารเช้า นั่นก็คือ agoda ก็มีโอกาสที่จะได้ค่าคอมมิชชั้นที่สูงขึ้นตามไปด้วย

ซับซ้อนขึ้นไปอีก Robert ยังมาดูเรื่องการบริหารจัดการคลังสินค้า (ในที่นี่คือ ห้องโรงแรมที่มีอยู่ในระบบ agoda และนอกระบบ agoda)  และเรื่องการคิดราคา (Pricing) ให้ระบบมีการขายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ห้องโรงแรมที่เห็นอยู่บนเว็บ agoda บางที ก็เป็นฐานข้อมูลจากเว็บ booking.com ก็มีนะครับ (booking.com เป็นบริษัทลูกของ Priceline เช่นเดียวกับ agoda) ก็มีการนำมาขายสับไปสับมาเพื่อให้ได้ผลกำไรมากที่สุด รายละเอียดคงเล่าไม่ได้มาก ไม่ได้กั๊กไว้นะครับ แต่เพราะผมไม่รู้จริงๆ ^^! เดาว่า ไม่ง่ายครับ สูตรสมการที่ Robert คิด

งานหลังจากนี้ ผมก็ไม่ค่อยรู้แล้วว่า Robert คุมงานโปรเจ็คอะไรบ้าง เพราะผมชิงชิ่งออกมาจาก agoda เสียก่อน แต่คาดว่าเยอะ เท่าที่ได้ฟังจากเพื่อนที่ทำงานร่วมกับเค้าบอกว่า โปรเจ็คที่ไม่เสร็จเป็นแรมปี พอ Robert มาดูแลกลับเสร็จในแรมเดือน สุโค่ยไหมครับ

Robert เป็นคนเชื้อสายจีน จึงเข้ากับผมได้ไม่ยาก ตอนกลางวัน หัวหน้าผม, Robert และก็ผม พวกเรามักจะไปกินข้าวด้วยกัน โดยมีผมเป็นแกนนำพาไปร้านอาหารทั่วย่านราชประสงค์ บางทีเดินไกลถึงหลังสวน เลยไกลถึงเพลินจิต เราก็เดินกัน แต่ไม่ได้ไปบ่อยนะ คุยกันเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว ก็รู้เลยว่า เค้าเป็นคนง่ายๆ ไม่ถือตัว เป็นคนดีมากคนหนึ่งเลย

Robert ทำงานด้วยความรับผิดชอบอย่างสูงถึงสูงที่สุด และยึดมั่นในความถูกต้องในอำนาจหน้าที่ที่ตัวเองได้รับเป็นอย่างดี เป็นหัวหน้าที่แม้จะเอาแต่ใจไปบ้าง แต่ก็เพื่อผลประโยชน์โดยรวมของทีมและบริษัท เป็นคนที่ขยันทำงานหนัก กลับบ้านดึกเสมอเลย ส่่วนใหญ่ผมจะกลับบ้านก่อนเค้าเสมอล่ะนะ รู้สึกละอาย ^^!

Robert เป็นคนที่ชอบประเทศไทยนะ  ผมคิดเช่นนั้นนะ ถึงได้มีภรรยาคนไทย เลือกปักหลักใช้ชีวิตที่นี่ เค้าชอบมาเล่าประการณ์อาหารไทย สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองไทยให้ผมฟัง ดูแล้วน่าอิจฉา ก็แหมอย่างร้านอาหาร Robert ก็เล่นไปกินระดับเชฟกระทะเหล็ก เลิศมาก

นี่เป็นเรื่องย่อๆ เกี่ยวกับ Robert…

ในฐานะเพื่อนคนหนึ่ง เพื่อนที่เค้าไว้ใจกินข้าวด้วยและพูดคุยอย่างสบายใจ การแสดงความเสียใจคงเป็นแค่การกระทำโดยพื้นฐานเหมือนคนทั่วๆ ไป ผมจึงเร่งเขียนบทความนี้ให้จบเพื่อหวังว่า ความรู้ที่ผมได้ถ่ายทอดให้กับผู้อ่านจะเป็นประโยชน์ และขอมอบความดีที่เกิดขึ้นในงานเขียนทั้งหมดนี้ให้กับเพื่อนของผมคนนี้

RIP…. Robert

ขอบคุณนะ

 

uiblogaziner
สวัสดีครับ ผมชื่อฟริ้นครับ รักและชอบงาน Graphic Design เอามากๆ เลย พอได้เริ่มทำงานเป็น UI Designer แล้ว ยิ่งสนุกขึ้นอีกแยะ งานออกแบบที่ใช้ความรู้สึกและเหตุผลเป็นอะไรที่สุดยอดจริงๆ ครับ

เช็คความเข้าใจ UI Checkbox in Practice

Previous article

จิตวิทยาราคาศาสตร์ ภาคต้น

Next article

Comments

Leave a reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Login/Sign up