Design Excite

คิดให้ปังดังทั่วโลกแบบนักเรียนสแตนฟอร์ด ตอนที่ 1: อะไรก็เป็นไปได้ ถ้าคิดเป็น

0

 

tv_episode_layout_1_201705250600_01

มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (Stanford University) ได้ปลุกปั้นเจ้าของกิจการระดับโลกมามากมาย ตัวอย่างเช่น คู่ผู้ก่อตั้งกูเกิล ลารี่ เพจ และ เซอเจอรี่ บริน หรือว่าจะเป็นผู้สร้างยาฮู เจอรี่ หยาง เป็นต้น เบื้องหลังความสุดยอดนี้คือ การคิดสอนให้นักศึกษารู้จักคิดเป็น คิดอย่างสร้างสรรค์ คิดแบบผู้นำ คิดเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ และที่นี่ก็มีโปรเฟสเซอร์ระดับโลกที่คอยโค้ชนักศึกษาให้ได้รู้จักการคิดอย่างสร้างสรรค์แบบแท้จริง อย่างที่ไม่เคยปรากฎที่ไหนมาก่อน เธอคือ ทีน่า ซีริค (Tina Seelig)

โปรเฟสเซอร์ ทีน่า ซีริค เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่คณะการจัดการด้านวิศกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์  และดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะโปรแกรมการสอนเพื่อผู้ประกอบการทางด้านเทคโนโลยีอีกด้วย ดังนั้นลูกศิษย์ของเธอจึงมักมีเด็กวิดวะมาเรียนกับเธออย่างมากมาย คอร์สของอาจารย์จะสอนแบบสนุกสนาน มีกิจกรรมที่น่าท้าทายให้ได้คิด ได้ปฏิบัติตลอด หนึ่งในคอร์สที่ป๊อปปูล่าก็คือ การคิดอย่างเจ้าของกิจการ (Entrepreneurial Thinking) ซึ่งเป็นสิ่งที่โชคดีมากๆ ที่คอร์สนี้ได้เผยแพร่สู่คนทั่วโลก ผ่านช่อง NHK World TV โปรแกรม First Class ซึ่งผมก็ได้ติดตามดู

ในคอร์สที่มีการถ่ายออกอากาศนี้ อาจารย์ ทีน่า ได้แบ่งสอนออกเป็น 8 ตอนย่อย โดยเปิดตัวด้วยเรื่อง “การค้นหาความเป็นไปได้ ด้วยการระดมความคิด (Discover Possibilities with Brainstorming)”

มาเริ่มเรียนกันเลยไหม?

 

การค้นหาความเป็นไปได้ ด้วยการระดมความคิด

tv_episode_201607140600_03_large

บรรยากาศภายในคลาสเรียน

คลาสเริ่มต้นด้วยการให้นักศึกษาได้แนะนำตัวกันทีละคนแบบกันเองๆ จากนั้นอาจารย์ทีน่าก็ให้เหล่านักเรียนแบ่งกรุ๊ปเพื่อทำการระดมสมองพูดคุยเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่นักศึกษาในกลุ่มสนใจเหมือนๆ กัน เป็นการวอร์มอัพก่อนเริ่มเนื้อหาจริง

เมื่อหมดเวลา อาจารย์ทีน่าก็เข้ามาแนะนำว่า ในขั้นตอนของการระดมสมอง (Brainstorming) สิ่งที่จำเป็นที่จะต้องคิดคำนึงนั้น ได้แก่

  • หัวข้ออะไรที่จะมาระดมความคิด? (What topic?)
    – หัวข้อที่ดีไม่ควรจะเป็นอะไรที่ดูกว้างไป ควรจะเลือกขนาดให้เหมาะสม
    – เป้าหมายสามารถตั้งให้ดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้
  • ใครที่ควรเข้าร่วมกลุ่ม (Who?)
    – ผู้เข้าร่วมในการระดมสมอง ควรจะมาจากหลายๆ แผนก เพื่อให้ได้มุมมองที่หลากหลาย
    – อย่าให้ใครทำการประเมินความคิดว่าดีหรือไม่ดีเร็วเกินไป เพราะมีข้อแตกต่างอย่างมากระหว่าง การระดมสมอง (Brainstorming) กับ การพัฒนา (Development) คือ การระดมสมองจะไม่มีความคิดที่แย่ ส่วนขั้นตอนการพัฒนานั้น เราได้ทำการคัดเลือกเอาไอเดียที่ผ่านการพิจารณาดูแล้วว่าดี มาทำการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการ
  • ควรทำการระดมสมองนานเท่าไร (How long?)
    – ให้เราหยุดเมื่อเรายังมีพลังอยู่ อย่าเข้าใจผิดว่าเมื่อหมดแรงแล้วจึงหยุด เพราะเรายังต้องการพลังที่เหลือทำอย่างอื่นต่ออีก โดยระยะเวลาที่เหมาะสมในการระดมสมอง ก็ประมาณ 10-15 นาที
  • ที่ไหนที่เหมาะ (Where)
    – สถานที่ควรเป็นที่ที่เราสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้สะดวก
    – มีเพดานสูง
    – มีสิ่งของที่ช่วยสนับสนุนการคิดจินตนาการ เช่น ปากกา, ไวท์บอร์ด, โพสอิท (Post-It)

ข้อแนะนำในการระดมสมอง

tv_episode_201607140600_04_large

อาจารย์ทีน่า ซีลิคสอนด้วยบุคลิกภาพที่มีความมั่นใจและทรงพลัง

ในการระดมสมอง อาจารย์ทีน่ายังได้แนะนำเพิ่มเติมอีกด้วยว่า

  • การระดมสมองจะทำได้ดีเมื่อเรายืน
  • ต้องไม่มีลำดับชั้น (No hierarchy) ทุกคนต้องมีปากกาพร้อมที่จะออกความคิดอย่างเท่าเทียม และต้องไม่มีการตัดสินความคิดของคนอื่นเด็ดขาด
  • เมื่อเพื่อนได้พูดออกความเห็นเสร็จ แล้วเราอยากออกความเห็นต่อ ให้เราใช้คำว่า “ขอผมเสริมความคิดนั้นต่อนะว่า…” (Let me build on that…) หรือสั้นๆ “ใช่และ…” (Yes and…) ด้วยคำพูดนี้จะเป็นการให้กำลังใจทีม และไม่เป็นการตัดสินความคิดของผู้อื่นด้วย ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายจะเป็นการหลอมรวมความคิดของทุกๆ คนเข้าไว้ด้วย จนยากจะแยกได้ว่าเป็นความคิดของใครคนใดคนหนึ่ง ทำให้เกิดความเป็นเจ้าของร่วมกัน (Feel of Ownership)
  • ตรงกันข้าม เมื่ออยากออกความเห็นต่อจากเพื่อน ให้เราพยายามเลี่ยงใช้คำว่า “ก็ใช่นะ แต่ว่า…” (Yes but…) เพราะเป็นคำพูดที่พยายามฆ่าหรือตัดสินความเห็นของคนอื่น (ในการระดมสมองไม่มีความคิดที่แย่) ดังนั้นพยายามสร้างนิสัยด้วยการพูดคำว่า “ใช่ เห็นด้วยเลย แล้วก็…” (Yes and…) เมื่อเราจะออกความเห็นต่อจากเพื่อน

เริ่มความท้าทาย

tv_episode_201607140600_05_large

การระดมสมองที่ให้นักเรียนยืนและมีพื้นที่เคลื่อนไหว พร้อมอุปกรณ์จดบันทึกความคิด

พออาจารย์ทีน่าได้สอนเกี่ยวกับปัจจัยจ่างๆ ในการระดมสมอง ก็ได้ให้โจทย์แก่นักเรียนเพื่อฝึกปรือสิ่งที่ได้สอนไปทันที โดยโจทย์มีอยู่ว่า << ให้วางแผนจัดงานปาร์ตี้ >> ในระหว่างที่แต่ละกลุ่มกำลังระดมสมอง จากบทสนทนาในการคุย จะได้ยินเลยว่า นักเรียนทุกคนจะพููดเสริมความคิดของเพื่อนด้วยคำว่า “เห็นด้วยเลย และ… (Yes and…) ”  ซึ่งทำให้จำนวนความคิดพรั่งพรูออกมาได้อย่างไม่ติดขัดและสนุก

พอจบจากกิจกรรมนี้ อาจารย์ทีน่าก็ตั้งโจทย์ให้ทำอีกทันที คือ << การไม่มีเวลาเพียงพอในหนึ่งวัน >> ในกิจกรรมนี้ นักศึกษาต่างก็ระดมสมองเหมือนแบบกิจกรรมที่แล้ว แต่พอเหลือเวลาอยู่อีกนิดหน่อย อาจารย์ก็ให้แนะวิธีคิดเพิ่มมาอีก 1 อย่าง คือ การพยายามคิดแนวเปรียบเทียบ (Metaphor)  เช่น กรณีของโจทย์นี้ ปัญหาคือตัวเวลา เราอาจจะคิดได้ว่า “เวลา ก็เป็นเหมือน เงินทอง” จากนั้นเราก็มาคิดว่า หากเรามีเงินไม่พอ เราจะทำอย่างไร ถ้าเราคิดว่าจะไปขอยืมเงินเพื่อน เราก็มาคิดย้อนกลับเปรียบเทียบในกรณีของเวลา ซึ่งเราอาจจะไปขอร้องให้เพื่อนมาช่วยงาน เหมือนเป็นการยืมเวลาคนอื่นมาใช้นั่นเอง

อีกตัวอย่างสำหรับการคิดเชิงเปรียบเทียบ เช่น การไม่มีเวลา คือ การไม่มีแฟน เราก็มาคิดว่าเราอยากมีแฟน ต้องทำอย่างไร บางคนอาจคิดว่าต้องมีรถขับ (ปัจจัยสนับสนุน) จะได้มีแฟน ถ้าคิดย้อนกลับไปเรื่องเวลา เราก็มาทบทวนหาปัจจัยสนับสนุนเพื่อให้มีเวลามากขึ้น เช่น การย้ายบ้านมาใกล้ที่ทำงาน, ซื้อคอมที่มีฮาร์ดดิสก์ แบบ Solid State เพื่อโหลดโปรแกรมต่างๆ ได้เร็วขึ้น เป็นต้น

พอจะมองวิธีการคิดแบบเชิงเปรียบเทียบ (Metaphoric Thinking) เป็นแล้วเนอะครับ

Mind Map เครื่องมือระดมสมองที่ทรงประสิทธิภาพ

tv_episode_201607140600_01_large

แนะนำ Mind Map

เครื่องมือสุดท้ายในคลาสวันนี้ อาจารย์ทีน่าได้นำเสนอ Mind Map (แผนผังความคิด) ให้แก่นักเรียนเพื่อใช้ทำโจทย์ข้อสุดท้าย ซึ่งให้ระดมความคิดในเรื่อง <<ประสบการณ์ในสแตนฟอร์ด>>

 

tv_episode_201607140600_02_large

นักเรียนทำกิจกรรมด้วยเครื่องมือ Mind Map

พอได้เครื่องมือใหม่ชิ้นนี้มา บวกกับวิธีต่างๆ ที่ได้เรียนมาก่อนหน้า นักเรียนแต่ละกลุ่มก็บรรเลงไอเดียลงบนไวท์บอร์ดกันอย่างเมามันทีเดียว จนเห็นได้เลยว่า พื้นที่ของกระดานมันไม่เพียงพอสำหรับพวกเค้าแล้วจริงๆ

ก่อนจบ อาจารย์ทีน่าก็ทำการสรุปเนื้อหาหลักๆ และถามความเห็น (Feedback) จากนักเรียนในสิ่งที่พวกเค้าชอบ และอยากให้เป็น ด้วยการพูดว่า I want… หรือ I wish… (ผม/หนู อยาก…)

แล้วคลาสวันแรกก็ได้จบลงด้วยความสนุกตลอดการเรียนของนักเรียน รวมถึงตัวอาจารย์ทีน่าเองด้วยที่ได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนของเธอที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจในทุกครั้งที่ได้สอน

ก่อนปิดห้องเรียน

เป็นยังไงบ้างครับ กับบรรยากาศการเรียนในคลาสระดับโลกของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่อาจารย์ทีน่าเป็นผู้สอน บทเรียนที่อยากเน้นย้ำอีกครั้งสำหรับวันนี้คือ การสร้างบรรยากาศภายในทีมให้เกิดความรู้สึกสบายในการออกความเห็น ด้วยการใช้คำเชิงบวก อย่างเช่น ใช่ๆ แล้วก็…(Yes, and…) แล้วเขียนความคิดเหล่านั้นออกมาด้วยเครื่องมือ Mind Map ง่ายๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงกรอบความเป็นไปได้ในช่วงของระดมสมอง

ขยันๆ ฝึกให้เป็นนิสัยนะ เพราะเมื่อเราคิดเป็น อะไรๆ ก็เป็นไปได้ท้ังนั้น

ในคลาสตอนที่ 2 จะมาด้วยชื่อตอน การผจญภัยของป้ายชื่อ (Adventure of The Name Tag) ฟังดูน่าสนใจทีเดียวใช่ไหมครับ ติดตามกันต่อ อย่าได้พลาดสักตอนเลยนะครับ ~ヾ(^∇^)

uiblogaziner
สวัสดีครับ ผมชื่อฟริ้นครับ รักและชอบงาน Graphic Design เอามากๆ เลย พอได้เริ่มทำงานเป็น UI Designer แล้ว ยิ่งสนุกขึ้นอีกแยะ งานออกแบบที่ใช้ความรู้สึกและเหตุผลเป็นอะไรที่สุดยอดจริงๆ ครับ

6 หลักการเพื่อออกแบบทุกสิ่งบนโลกนี้ ตอนที่ 1: Affordance (ล่อให้กระทำ)

Previous article

คิดให้ปังดังทั่วโลกแบบนักเรียนสแตนฟอร์ด ตอนที่ 2: การผจญภัยของป้ายชื่อ

Next article

Comments

Comments are closed.

Login/Sign up