Design Excite

คิดให้ปังดังทั่วโลกแบบนักเรียนสแตนฟอร์ด ตอนที่ 3: เปลี่ยนไอเดียสุดแย่ให้สุดยอด

0

entrepreneurial-thinking-ep3-03

กิจกรรมวอร์มอัพ เครื่องผลิตซูชิ

คลาสเริ่มต้นด้วยการวอร์มอัพเล็กน้อย โดยให้คนที่หนึ่งเริ่มต้นทำท่าผลิตซูชิ จากนั้นคนที่สองก็เข้ามาต่อแถวและรับสายการผลิตด้วยท่าทางอื่นต่อ คนที่สาม, คนที่สี่…ก็มารับช่วงต่อๆ ไปจนเป็นสายพานเครื่องผลิตซูชิที่มีลีลาการเคลื่อนไหวของนักเรียนไม่ซ้ำกันเลย ขำดีครับ ^^

 

entrepreneurial-thinking-ep3-04

แนะนำเครื่องมือการคิดแบบใหม่ เพื่อก้าวพ้นความคิดที่แสนธรรมดา

อาจารย์ทีน่าเริ่มต้นคลาสด้วยการทบทวนหัวข้อเนื้อหาที่ได้เรียนไปแล้วในสองวันแรก วันแรกจะเป็นเรื่องของการระดมความคิด และวันที่สองคือกระบวนการออกแบบ ในวันนี้อาจารย์ทีน่าจะพาย้อนกลับที่จุดเริ่มต้นใหม่ โดยให้เหตุผลว่า การระดมความคิดไม่เพียงพอที่จะทำให้เราสามารถคิดหาไอเดียที่มันสุดสร้างสรรค์ไฉไลและก้าวล้ำความธรรมดาทั่วไปโดยสิ้นเชิงได้ เราจะแยกความคิดออกจากความธรรมดาสามัญนั้นได้อยางไรกัน วันนี้เราจะได้เห็นเวทมนตร์ของอาจารย์ทีน่ากันครับ

 

วันหยุดพักผ่อนของครอบครัวที่สุดแสนวิเศษ

entrepreneurial-thinking-ep3-05

นักเรียนระดมความคิดเรื่อง วันหยุดแสนวิเศษของครอบครัว

กิจกรรมท้าทายสมองงานแรก เริ่มต้นด้วยการให้นักเรียนทำการระดมสมองกันในเรื่อง <<วันหยุดพักผ่อนของครอบครัวที่แสนสุดวิเศษ>> ภายในเวลา 7 นาที แน่นอนครับ เครื่องมือยอดนิยมสำหรับการระดมสมองคงหนีไม่พ้น “Mind Map”

 

entrepreneurial-thinking-ep3-06

Mind Map คือเครื่องมือชั้นยอดตลอดซีรีย์นี้

 

entrepreneurial-thinking-ep3-07

เขียนความคิดที่ดีที่สุดลงบนกระดาษสีเขียว

พอครบเวลา อาจารย์ทีน่าก็บอกให้นักเรียนเลือกกัปตันมาหนึ่งคนในแต่ละกลุ่ม แล้วก็เลือกไอเดียที่คิดว่าเริ่ดที่สุดตามความเห็นของคนในกลุ่ม จากนั้นให้กัปต้นเขียนเป็นหัวข้อลงบนกระดาษ Post-It สีเขียว แล้วเอาไปติดที่มุมกระดานของกลุ่มตัวเอง

 

entrepreneurial-thinking-ep3-08

ตัวอย่างความคิดของนักเรียนเกี่ยวกับวันหยุดที่ดีที่สุดของครอบครัว

คิดวันหยุดพักผ่อนของครอบครัวที่แสนเลวร้ายที่สุด

entrepreneurial-thinking-ep3-09

คิดหาประสบการณ์แสนเลวร้ายของวันหยุดพักผ่อน

ต่อจากนั้น อาจารย์ทีน่าก็สั่งการกิจกรรมต่อไปโดยทันที โดยให้แต่ละกลุ่มหันกระดานอีกด้านที่ว่าง แล้วให้ระดมสมองเรื่อง <<วันหยุดพักผ่อนของครอบครัวที่แสนสุดเลวร้าย>> ด้วยเวลา 7 นาทีเท่ากัน คิดเสร็จก็ให้เลือกไอเดียที่คนในกลุ่มคิดว่าแย่สุดๆ ออกมา เขียนเป็นหัวข้อลงบนกระดาษ Post-It สีส้ม แล้วนำไปติดบนกระดาน

 

entrepreneurial-thinking-ep3-10

การระดมสมองของนักเรียนเกี่ยวกับหัวข้อวันหยุดครอบครัวที่แสนเลวร้าย

 

entrepreneurial-thinking-ep3-11

เลือกไอเดียที่แย่ที่สุด แล้วเขียนลงบนกระดาษสีส้ม แปะลงที่กระดาน

 

หยิบไอเดียที่ดีออกมา แล้วทำลายซะ

entrepreneurial-thinking-ep3-16

หัวหน้าของแต่ละทีมเดินไปหยิบกระดาษสีเขียว (ไอเดียที่ดี) ตามคำสั่งของอาจารย์ทีน่า

เมื่อแต่ละกลุ่มคิดประสบการณ์แสนเลวร้ายในวันหยุดเสร็จ อาจารย์ทีน่าก็ขอร้องให้กัปต้นแต่ละกลุ่มเดินไปหยิบแผ่นกระดาษสีเขียวออกมา (กระดาษที่เขียนไอเดียดีๆ เอาไว้) จากนั้นก็บอกให้พับครึ่งกระดาษ 2 ครั้ง

 

entrepreneurial-thinking-ep3-18

อาจารย์ทีน่าสั่งให้หัวหน้าทีมพับกระดาษ แล้วฉีกมันซะ

แล้วก็ฉีกมันซะ!! ฉีกให้ละเอียด จากนั้นก็ทิ้งมันลงไป นักเรียนถึงกับอึ้งกันทุกคนเลยเชียว

 

entrepreneurial-thinking-ep3-19

ฉีกกันจริงๆ อย่างไม่มีเยี่อใย

 

เปลี่ยนร้ายให้เป็นดี

entrepreneurial-thinking-ep3-20

ทำไอเดียที่แย่ให้ดูเริ่ดซะ

ไม่ทันไร อาจารย์ทีน่าก็จัดกิจกรรมที่ 3 โดยให้แต่ละกลุ่มหยิบกระดาษที่เป็นไอเดียที่แย่ออกมา แล้วส่งมันให้กับกลุ่มถัดไป หน้าที่ของแต่ละกลุ่มคือ <<เปลี่ยนไอเดียสุดแย่ให้เป็นไอเดียสุดยอด และขายไอเดียนั้นภายใน 1 นาที>> ด้วยระยะเวลาในการคิด 10 นาที

 

entrepreneurial-thinking-ep3-25

นักเรียนต่างช่วยกันคิดเปลี่ยนความคิดที่สุดแสนแย่ให้เป็นไอเดียที่สุดแสนดี

 

entrepreneurial-thinking-ep3-27

กลุ่มนักเรียนเปลี่ยนไอเดีย ‘ถูกกักอยู่ในนรกที่ไม่มีการหลับใหล’ ให้เป็นไอเดียที่ดี

กลุ่มนี้ได้ไอเดีย ‘ถูกกักอยู่ในนรกที่ไม่มีการหลับใหล’ ซึ่งได้นำเสนอไอเดียเป็นเรื่องราวว่า ลูกคนหนึ่งอยากจะเล่นเครื่องเล่น แต่แม่บอกว่า นี่มันทุ่มนึงแล้ว ไม่มีเวลาเล่นแล้ว จากนั้นก็หลงเข้าไปในที่แห่งหนึ่ง ซึ่งที่นี่เป็นไนท์คลับที่ไม่มีการหลับใหล มีบริการรถไฟเหาะวิ่งรอบเมือง มีที่ให้ลูกสาวได้แดนซ์ตลอดคืนอีก ทำให้ลูกๆ รู้สึกแฮปปี้เลย ไอเดียไนท์คลับนี่ก็ถูกใจอาจารย์ทีน่าไม่ใช่น้อย

 

entrepreneurial-thinking-ep3-29

กลุ่มนักเรียนเปลี่ยนไอเดีย ‘ถูกจมปลักในความโกลาหล’ ให้เป็นไอเดียที่ดี

ส่วนกลุ่มนี้ได้ไอเดีย ‘ถูกจมปลักในความโกลาหล’ ได้นำเสนอเรื่องราวครอบครัวที่กำลังทะเลาะกันอยู่ แต่ก็มีคนมาเสนอว่าให้ไปที่เกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งต้องมีการล่าอาหารและพยายามหาทางออกไปด้วยกัน แถมมีเงินรางวัลล่อใจอีกด้วย ผลพลอยได้อีกอย่างคือ ทำให้ครอบครัวมีเรื่องราวที่ทำด้วยกัน เป็นการสานสัมพันธ์ภายในครอบครับทางอ้อม จากที่ตอนแรกทะเลาะกัน

 

ไม่มีไอเดียที่แย่ในการระดมสมอง

entrepreneurial-thinking-ep3-32

ไม่มีไอเดียที่แย่เลยจริงๆ

พอทุกกลุ่มนำเสนอความคิดเสร็จ อาจารย์ทีน่าก็บอกนักเรียนว่า เธอรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่สอน เพราะเธอเปลี่ยนกิจกรรมที่ให้คิดแบบนี้ตลอด จากนั้นก็สรุปเบื้องหลังกิจกรรมนี้

อาจารย์ทีน่าให้ความเห็นว่า เวลาเราพยายามจะคิดไอเดียที่ดีที่สุด ผลที่ได้คือ มันจะเป็นได้แค่ไอเดียที่ดูธรรมดา เฉยๆ ไม่รุนแรง แต่เมื่อเราพยายามคิดไอเดียที่แย่ มันจะเป็นไปเดียที่ดูบ้ามาก ที่น่าตกใจคือ มันใช้เวลาเพียงน้อยนิดในการคิดด้วย

และจากกิจกรรมนี้จะเห็นชัดเลยว่า ถ้าเราคิดไอเดียด้วยมุมมองที่คิดว่ามันแย่ มันก็จะเป็นไอเดียที่แย่ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราต้องทำให้ไอเดียที่แย่เป็นไอเดียที่ดี มันก็จะเป็นไอเดียที่ดี นั่นคือเหตุผลที่เราไม่สามารถกำจัดไอเดียไม่ดีออกไปได้เลย ดังนั้น เมื่อเราทำการระดมสมอง จึงไม่มีไอเดียที่แย่เลย เราเพียงต้องมองไอเดียผ่านกรอบแห่งโอกาสความเป็นไปได้ทั้งหมด

อาจารย์ทีน่ายังยกตัวอย่างเพิ่มอีกว่า สมมติว่า ถ้าเราต้องออกแบบรถยนต์แบบใหม่ ถ้าเราคิดแบบที่จะทำให้มันดี เราก็จะได้โซลูชันที่แค่ดีขึ้นเพียงน้อยนิดเท่านั้น (small incremental improvement) เช่น เพิ่มที่วางแก้วจาก 2 จุด เป็น 6 จุด แต่ถ้าเราคิดว่า อะไรคือสิ่งที่แย่ที่สุดที่เราสามารถทำได้กันนะ ลองเป็น เอาที่นั่งไปไว้บนหลังคาดีไหม, ไม่ต้องมีประตูหลัง… ซึ่งไอเดียเหล่านี้ดูเป็นไอเดียที่ดูบ้าสิ้นดี แต่ไอเดียเหล่านี้แหละที่ช่วยปฎิวัติความคิดของเราให้ออกจากความคิดที่แสนธรรมดา

 

นำไปใช้จริง

entrepreneurial-thinking-ep3-35

ค้นหาคุณสมบัติของธุรกิจ

เมื่อนักเรียนรู้แล้วว่า การคิดเพื่อพยายามทำให้มันดี ไม่เพียงพอที่จะทำให้พวกเค้าก้าวผ่านความธรรมดาไปได้ อาจารย์ทีน่าจึงแนะนำเครื่องมือการคิดแบบเต็มหลักสูตรอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา โดยยกตัวอย่างกรณีของ ธุรกิจอาหารจานด่วน (Fast Food) แล้วถามความเห็นจากนักเรียนว่า ถ้าพูดถึงอาหารจานด่วน จะนึกถึงอะไร โดยคำตอบที่ได้จะนำมาเขียนเป็นคอลัมน์แรกที่เรียกว่า สิ่งที่นึกภาพถึง (Assumption)

จากความคิดเห็นของนักเรียนในคลาส เมื่อพูดถึงอาหารจานด่วน เราจะนึกถึง

  • ความเร็ว (Fast Service)
  • ไม่ดีต่อสุขภาพ (Unhealthy)
  • ราคาถูก (Inexpensive)
  • ขับรถเข้าสั่งได้ (Drive-Thru)
  • ขายเฉพาะอาหาร (Only Food)
  • สำหรับคนธรรมดา (Common Person)
  • ที่นั่งนั่งไม่สบาย (Uncomfortable Seats)
  • ใช้มาสคอต (Mascot)
  • เหมือนๆ กันทุกสาขา (Consistent Chain)

 

entrepreneurial-thinking-ep3-38

เพิ่มความสุดขั้วให้กับภาพธุรกิจ

พอได้ลิสต์รายการที่น่าจะเป็นคุณสมบัติของธุรกิจที่เรากำลังทำการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว ถัดไปก็ให้เราคิดในแบบสุดๆ (Exaggeration or Extreme) ในเรื่องที่เราได้คิดก่อนหน้านี้ เช่น ถ้าเราคิดว่า อาหารจานด่วนราคาถูก ที่สุดของถูกก็คือ ให้ฟรีไปเลย เป็นต้น

ตารางด้านล่างเป็นตัวอย่างข้อมูลคอลัมน์ A ในการมองความคิดแบบสุดๆ

Asssumption Exaggeration (A)
ความเร็ว (Fast Service) เสิร์ฟทันทีเหมือนอ่านใจได้ (Instantly)
ไม่ดีต่อสุขภาพ (Unhealthy) เป็นพิษ (Poisonous)
ราคาถูก (Inexpensive) ให้ฟรี (Free)
ขับรถเข้าสั่งได้ (Drive-Thru) เข้าไปได้ทุกทาง (All-Thru)
ขายเฉพาะอาหาร (Only Food) ขายทุกอย่าง (Every Food)
สำหรับคนธรรมดา (Common Person) ใครก็ได้ (Everyone)
ที่นั่งนั่งไม่สบาย (Uncomfortable Seats) ไม่มีที่นั่ง (No Seat)
ใช้มาสคอต (Mascot) ใช้มาสคอตเสิร์ฟ (Serve by Mascot)
เหมือนๆ กันทุกสาขา (Consistent Chain) เหมือนกันทุกอย่าง (All the Same)

 

entrepreneurial-thinking-ep3-39

ตัวอย่างการคิดแบบสุดๆ ในด้านภาพธุรกิจที่นึกได้ตอนแรก

คิดให้ตรงข้ามแบบสุดๆ

entrepreneurial-thinking-ep3-40

คิดให้ตรงข้ามสุดๆ ด้วย

เมื่อได้ข้อมูลทั้งสิ่งที่นึกถึงเมื่อพูดถึงเกี่ยวกับธุรกิจ (Assumption – คอลัมน์ตั้งต้น) และ ความคิดแบบสุดขั้วสำหรับคุณสมบัติหนึ่งๆ (Exaggeration – คอลัมน์ A) คราวนี้ อาจารย์ทีน่าก็ให้นักเรียนช่วยกันคิดในมุมมองตรงข้ามแบบสุดๆ กับข้อมูลในคอลัมน์ A  (Opposite Thinking) ด้วยวิธีการนี้ จะทำให้เราได้ความคิดแบบสุดขั้วในแง่มุมต่างๆ ของธุรกิจ ทั้งด้านบวกและลบ ทั้งด้านที่ดูเหมือนดีหรือดูแย่

 

entrepreneurial-thinking-ep3-41

ตัวอย่างการคิดตรงข้ามแบบสุดขั้ว

ตารางด้านล่างเป็นข้อมูลที่คิดตรงข้ามแบบสุดขั้วกับคอลัมน์ A (Exaggeration) ซึ่งมาจากการออกความเห็นกันโดยนักเรียนในคลาสเช่นเคย

Exaggeration (A) Opposite (B)
เสิร์ฟทันทีเหมือนอ่านใจได้ (Instantly) เสิร์ฟช้า (Very Slow)
เป็นพิษ (Poisonous) อาหารยา (Cured)
ให้ฟรี (Free) แพงมาก (Very Expensive)
เข้าไปได้ทุกทาง (All-Thru) ต้องขึ้นเขา (Hike-In)
ขายทุกอย่าง (Every Food) ขายอย่างเดียว (Single Food)
ใครก็ได้ (Everyone) เฉพาะที่ได้รับเชิญ (Invitational only)
ไม่มีที่นั่ง (No Seat) มีเตียงและเลาจ์ (In Bed & Lounge)
ใช้มาสคอตเสิร์ฟ (Serve by Mascot) ไม่มีมาสคอต (No Mascot)
เหมือนกันทุกอย่าง (All the Same) ต่างกันหมด (Completely Different)

 

สร้างโอกาสจากความคิดสุดขั้ว

entrepreneurial-thinking-ep3-44

เตรียมนำเสนอผลงานความคิดที่ผสมระหว่าง ความคิดสุดขั้ว กับความคิดตรงข้าม

เมื่อเราจะได้คุณสมบัติที่สุดขั้วทั้งสองด้านของธุรกิจในเรื่องต่างๆ อาจารย์ทีน่าก็บอกให้นักเรียนทำการเลือกความคิดจากคอลัมน์ A (Exaggeration) และคอลัมน์ B (Opposite) มาอย่างละหนึ่งแผ่น เพื่อนำไปสร้างเป็นร้านอาหารแนวคิดใหม่ แล้วนำมาขายไอเดียให้กับอาจารย์ได้ฟัง

 

entrepreneurial-thinking-ep3-48

นำเสนอร้านอาหารที่ใช้ความคิดคู่ที่สุดขั้วระหว่าง ‘อ่านใจได้ทันที’ กับ ‘เข้าถึงโดยการปีน’

นักเรียนกลุ่มนี้เลือกคู่ ‘อ่านใจได้ทันที’ กับ ‘เข้าถึงโดยการปีน’ นำเสนอเรื่องราวที่เพื่อนคู่หนึ่งหลงเข้าไปที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งชื่อ Desserted Place จากนั้นพนักงานที่ร้านก็บอกว่าที่นี่ไม่มีเมนูเสิร์ฟนะ เพียงแค่ลูกค้าสวมใส่นาฬิกาที่มีไมค์ติดอยู่ เมื่อลูกค้าพูดหรือคิดอยากกินอะไรขึ้นมา ก็จะมีของกินนั้นร่วงหล่นมาหาทันที

 

entrepreneurial-thinking-ep3-50

นำเสนอร้านอาหารที่ใช้ความคิดคู่ที่สุดขั้วระหว่าง ‘เสิร์ฟโดยมาสคอต’ กับ ‘จองเป็นปี’

สำหรับคู่ ‘เสิร์ฟโดยมาสคอต’ กับ ‘จองเป็นปี’ ได้นำเสนอเรื่องราวการหาเงินทุนเพื่อองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก โดยผู้บริจาคจะได้รับการเสิร์ฟอาหารที่ร้านโดยเจ้ามาสคอตที่เป็นแพนด้า แต่ว่าอาจต้องรอเป็นปี เพราะว่าแพนด้าไม่ค่อยออกลูกเท่าไรนัก

 

entrepreneurial-thinking-ep3-51

นำเสนอร้านอาหารที่ใช้ความคิดคู่ที่สุดขั้วระหว่าง ‘อาหารเป็นพิษ’ กับ ‘แพงสุดโข’

อีกกลุ่มที่ได้ ‘อาหารเป็นพิษ’ กับ ‘แพงสุดโข’ เปิดตัวด้วย ชายผู้ร่ำรวยและอยากมีชื่อเสียง ก็มีเพื่อนมาแนะนำให้เข้าร่วมรายการ คน กับ อาหาร เพื่อพิสูจน์ความเป็นชายและพลัง ซึ่งอาหารที่เสิร์ฟจะมีอาหารที่เป็นพิษด้วย โดยผู้ที่ชนะจะถูกถ่ายทอดไปทั่วไปโลกและมีชื่อเสียง ชายผู้ร่ำรวยจึงถามกลับไปว่า แล้วจะเงินจำนวนมากนี้มาจัดรายการยิ่งใหญ่แบบนี้จากไหน เพื่อนก็เลยตอบว่า ก็เงินนายไง ก็รวยไม่ใช่เหรอ ก็เลยฮากันทั้งห้อง นี่ต้องเสี่ยงกินอาหารพิษ แถมยังแพงอีก เพื่อชื่อเสียงดังกระฉ่อนทั่วโลก ฟังดูเข้าท่าดีนะ

 

entrepreneurial-thinking-ep3-53

เล่าเรื่องประสบการณ์บริษัทละครสัตว์ที่ใช้วิธีนี้ในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ

พอเรียกล้อมวง อาจารย์ทีน่าก็จะรู้สึกตื่นเต้นกับกิจกรรมความคิดสร้างสรรค์เสมอ เพราะเธอไม่มีทางรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในคลาสบ้าง แม้ว่หัวข้อกิจกรรมจะเหมือนกันก็ตาม

จากนั้นอาจารย์ก็ลองถามนักเรียนว่า เคยรู้บ้างไหมว่า มีหลายบริษัทที่ใช้วิธีการแบบนี้ในการดำเนินธุรกิจ แต่ที่อาจารย์ทีน่ายกตัวอย่างคือ เซอร์คัส เดอ โซเลย (Circus de Soleil) คณะละครสัตว์ระดับโลก จากประเทศแคนาดา ที่ครั้งหนึ่งในปี 1985 เคยประสบปัญหาความซบเซาของธุรกิจแวดวงนี้มาก่อน

บริษัทได้ใช้วิธีนี้โดย กางเอาภาพที่คนนึกถึงเมื่อพูดถึงละครสัตว์ (Assumption) อาทิ ตัวตลก, สัตว์อันตราย เป็นต้น จากนั้นก็คิดแบบสุดขั้ว (Exaggeration and Opposite) เช่น ปกติละครสัตว์จะ

  • มีคนดู: เด็ก  =>  สุนัข
  • ขายตั๋ว: ราคาถูก => แพง
  • แสดงที่: สวน => โรงโอเปร่า, โรงหนังขนาดใหญ่

จากแนวคิดแบบสุดขั้วเช่นนี้ ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม และยังคงเป็นละครสัตว์ที่เปิดการแสดงไปทั่วโลก ซึ่งได้เปิดการแสดงไปแล้วที่ประเทศไทยเมื่อปี 2015

 

entrepreneurial-thinking-ep3-61

ปล่อยให้ความคิดเติบโต อย่าด่วนตัดสินว่ามันแย่

อาจารย์ได้สรุปคลาสนี้ว่า ระหว่างช่วงของการคิดสร้างไอเดีย เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าไอเดียซึ่งตอนแรกเป็นแค่เมล็ดพันธุ์จะนำเราไปไหน เราจำเป็นต้องให้โอกาสทุกเมล็ดพันธุ์เบ่งบานและเติบโตก่อนที่เราจะตัดสินว่ามันสามารถนำไปใช้ได้หรือไม่ได้ บางเมล็ดพันธ์ุอาจจะดูแย่ในตอนแรก หรือไม่รู้ว่ามันจะเติบโตไปทางไหน แต่เมล็ดพันธ์ุเหล่านั้นแหละที่จะให้ผลลัพธ์อันสุดแสนประหลาดใจ

 

บทเรียนจากนักเรียน

entrepreneurial-thinking-ep3-60

จากความสงสัยสู่ความจริงที่แมทได้ค้นพบว่า ไอเดียที่แย่ก็สามารถเปลี่ยนเป็นไอเดียที่สุดยอดได้จริง

ในคลาสแรกๆ อาจารย์ทีน่าได้สอนกับทุกคนว่า ไม่มีไอเดียที่แย่ในการระดมความคิดซึ่งเป็นสิ่งที่แมทรู้สึกสงสัยมาตลอดว่ามันจะเป็นจริงหรือไม่ แต่พอได้เรียนคลาสนี้แล้ว ทำให้แมทได้รู้เลยว่า ไม่มีไอเดียที่แย่เลยในการระดมสมอง เพราะไอเดียที่แย่ที่สุดยังสามารถเปลี่ยนให้เป็นไอเดียที่ดีที่สุดได้เลยนี่นา

เห็นและเจอกับตัวเช่นนี้ คงเข้าใจลึกซึ้งและต้องเน้นย้ำอีกครั้งครับว่า ในการระดมสมองไม่มีไอเดียไหนที่แย่เลยครับ และการจะก้าวข้ามความคิดที่ดูธรรมดา หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด เราต้องใช้เครื่องมือที่สอนให้เรากล้าคิดแบบสุดขั้วทั้งสองด้าน (Assumption – > Exaggeration > Opposite) แล้วโลกแห่งโอกาสใหม่จะเปิดให้เราได้เห็น

 

ในคลาสที่ 4 เราจะมาลองสวมหมวกเจ้าบทบาททั้ง 6 กันครับ (Six Thinking Hats) แน่นอนว่าสนุกเร้าใจเช่นเคย การันตีโดยอาจารย์ทีน่าเช่นเคย (≧∇≦)/

 

*************************************

ใครพลาด 2 ตอนแรก อ่านย้อนหลังได้ที่นี่เลยครับ

คิดให้ปังดังทั่วโลกแบบนักเรียนสแตนฟอร์ด ตอนที่ 2: การผจญภัยของป้ายชื่อ

คิดให้ปังดังทั่วโลกแบบนักเรียนสแตนฟอร์ด ตอนที่ 1: อะไรก็เป็นไปได้ ถ้าคิดเป็น

uiblogaziner
สวัสดีครับ ผมชื่อฟริ้นครับ รักและชอบงาน Graphic Design เอามากๆ เลย พอได้เริ่มทำงานเป็น UI Designer แล้ว ยิ่งสนุกขึ้นอีกแยะ งานออกแบบที่ใช้ความรู้สึกและเหตุผลเป็นอะไรที่สุดยอดจริงๆ ครับ

คิดให้ปังดังทั่วโลกแบบนักเรียนสแตนฟอร์ด ตอนที่ 2: การผจญภัยของป้ายชื่อ

Previous article

คิดให้ปังดังทั่วโลกแบบนักเรียนสแตนฟอร์ด ตอนที่ 4: หมวกเจ้าบทบาททั้ง 6

Next article

Comments

Leave a reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Login/Sign up